“ป่วยใจ” ไม่ใช่ “คนบ้า” ถอดบทเรียนละครไทยยุคใหม่ ที่ไม่ตีตรา “ผู้ป่วยจิตเวช”
ข้อมูลจาก สัมมนาเชิงนโยบาย เรื่อง “สูญสิ้นสู่ความหวัง: ร่วมประกอบสร้างเรื่องเล่าและข้อเสนอทางเลือกการนำเสนอประเด็นสุขภาพจิตในสื่อ”
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“ละคร” กำลังถูกพูดถึงในฐานะเป็น Soft Power ที่มีบทบาทต่อสังคมมาเกือบทุกยุคสมัย วันนี้แม้แพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือละครยังคงเป็นสื่อบันเทิงยอดนิยมที่คนชื่นชอบมากที่สุด
ในหลาย ๆ ประเทศละครมีความสำคัญ จนขนาดรัฐนำมาเป็น “กลยุทธ์” ในการสร้างชาติ สร้างประเทศ และขับเคลื่อนสังคมวัฒนธรรมได้ เช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศเกาหลีใต้ ทั้งยังสามารถยกระดับละครเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเชิงสร้างสรรค์ที่ตีตลาดไปทั่วโลก
ในฐานะของสื่อบันเทิงที่คนนิยมเสพมากที่สุด จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่สังคมไทยเราควรจะมีละครสอดแทรกสาระดี ช่วยจุดประกายความหวัง และสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
ดูละครย้อนดูสังคม
ย้อนกลับมาที่การเติบโตของละครไทยที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่าละครไทยยังคง “ย่ำอยู่กับที่” นั่นคือนำเสนออยู่ในวังวนเรื่องราวที่เน้นแต่ความรักฉันชู้สาว การแก่งแย่งแข่งขัน และชิงรักหักสวาท และขาดละคร “น้ำดี” ที่สร้างสรรค์หรือสนับสนุนการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคม จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนดูเริ่มเบื่อหน่าย หันเหไปเสพละครจากต่างประเทศมากขึ้น ที่หลายคนมองว่ามี “มิติ” และความจรรโลงใจมากกว่า
ไม่เพียงจุดอ่อนด้านเนื้อหา เสียงจากคนดูกลุ่มหนึ่งยังสะท้อนว่าละครไทยขาดความ “สมจริง” บ่อยครั้งที่ละครไทยมีการนำเสนอข้อมูล เรื่องราวที่ไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงนัก จนอาจทำให้สังคมมีความเข้าใจผิด
โดยเฉพาะความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวช หลายสื่อส่วนใหญ่มักเสนอภาพผู้ป่วยโรคจิตเวช “เกินจริง” โดยมักนำเสนอภาพด้านลบ เช่น การแสดงอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด หรือถูกล่ามโซ่ตรวนแบบสุดโต่งได้กลายเป็น “ภาพจำ”ของคนทั่วไป จนนำไปสู่ทัศนคติด้านลบต่อผู้ป่วยโรคจิตเวช
เมื่อสื่อต่าง ๆ ทั้งละคร หรือ ซีรีส์ เป็นสื่อที่ทรงพลัง มีอิทธิพลต่อชุดความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของคนในสังคม
ในช่วงเวลาปัจจุบันที่แนวโน้มปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากนำพลังของสื่อละครมาเป็นช่องทางสื่อสารสร้าง ความสำคัญของละครมีอำนาจ “ชี้นำสังคม” ก็น่าจะช่วยหนุนเสริมการถ่ายทอดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวช ลดการตีตรา และเป็นอีกทางออกสังคมในวันนี้ได้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงผนึกพลังกับ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ มาร่วมกันถอดบทเรียนจากการศึกษาแนวทางการสื่อสารประเด็นสุขภาพจิตในซีรีส์เกาหลี และสร้างความร่วมมือกับคนทำงานด้านสื่อภาพยนตร์/ละครไทย จัดทำคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อ-ผู้จัดละครที่มีเนื้อหาคุณภาพ ในการสัมมนาเชิงนโยบาย เรื่อง “สูญสิ้นสู่ความหวัง: ร่วมประกอบสร้างเรื่องเล่าและข้อเสนอทางเลือกการนำเสนอประเด็นสุขภาพจิตในสื่อ” หวังเสริมพลังวงการละครไทย ยกระดับสู่สื่อน้ำดีที่ช่วยชี้นำสังคมในทิศทางเชิงบวก
เรื่องที่ไม่ถูกเล่า
เครือวัลย์ เที่ยงธรรม นายกสมาคมเสริมสร้างชีวิต เผยความรู้สึก ในฐานะของกลุ่มคนที่เคยถูก “เมิน” และตีตราจากสังคม จากการที่เคยมีชีวิตช่วงหนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเครือวัลย์ให้นิยามว่า “คนพิการทางจิตสังคม”
“หลายคนสงสัยว่าพิการตรงไหน” เครือวัลย์ขยายความ “มันเป็นความพิการที่มองไม่เห็นด้วยตา และคความมองไม่เห็นนี่เองที่ทำให้ “เรา”ไม่มีพื้นที่ในสังคมและสื่อ”
เครือวัลย์ชี้แจงว่าการเป็นโรคทางใจก็ไม่ต่างจากโรคภัยทางกายอย่างไข้หวัด ที่เป็นและหายได้
คนป่วยทางใจ อาจคือคนที่เราเจอในชีวิตประจำวันทั่วไปนี่เอง
“อาจเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น คนขับรถแทกซี่ที่เรานั่ง หมอที่รักษาคนไข้ หรือแม้แต่คนที่ทำงานระดับมันสมองของประเทศ แต่ทว่าเรื่องแท้จริงของผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้ กลับแทบไม่เคยปรากฏ และไม่เคยถูกเล่าในสื่อเลย”
“อีกหนึ่งเรื่องของเราที่มักไม่ถูกเล่า คือเราเป็นคนกลุ่มไม่น้อยในสังคมไทย รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันความชุกตลอดชีพของโรคจิตเภทคือ 1% ไบโพลาร์ 1.2% ต่อจำนวนประชากรในประเทศ ส่วนคนเป็นซึมเศร้า 4-5% หรือ 1.5 ล้านคน และจากรายงานกรมสุภาพจิตในปี 2566 ที่ผ่านมายังพบว่า มีคนเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตมากกว่า 8 หมื่นคนทีเดียว” เธอกล่าว
“ยังมีอีกเรื่องที่ไม่ถูกเล่าในสังคมคือ คนเป็นโรคจิตเวชเขา(รักษา) หายได้ค่ะ แต่ตรงกันข้าม สิ่งที่สื่อมักเล่าเกี่ยวกับผู้ป่วยสุขภาพจิตคือเรื่องความรุนแรง โหดร้าย จนทำให้สังคมมีความกลัวคนเป็นโรคจิตเวช ทั้งที่ผู้ป่วยหลายรายได้รับการรักษาต่อเนื่องและกลับสู่สังคมใช้ชีวิตปกติ ซึ่งการรักษาผู้ป่วยจิตเวชให้หายเป็นปกตินั้นไม่เพียงมีคุณค่าต่อตัวเขา แต่ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม และต่อชีวิตมนุษย์อย่างมากด้วย” เครือวัลย์ กล่าว
สังคมอุดมดรามา
ฟังความเห็นจากจำเลยในละครไปแล้ว มาฟังเสียงฟากฝั่งตัวแทนคนทำงานในแวดวงละคร อย่าง นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ กรรมการและเลขานุการสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ที่หลาย ๆ คนอาจรู้จักในนามคุณบ๊วย นักเขียนบทละครโทรทัศน์ชื่อดังที่เป็นกระแสหลายต่อหลายเรื่อง เธอให้ความเห็นว่า ในบรรดาสื่อทั้งหมด ละครเป็นสื่อที่ทรงพลังที่สุด
คุณบ๊วยยังเผยถึงเคล็ดลับความสำเร็จของการทำให้ละครแต่ละเรื่องนั้น “ปัง” ว่าต้องเกิดจากสิ่งที่เรียกว่าการสื่อสารด้วย “ความรู้สึก”
“การสื่อสารสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ฐานใจมักมีพลังมากกว่าฐานสมองเสมอ เพราะเมื่อเกิดการสื่อสารความรู้สึกของเรามักไปก่อนสมอง สมองมีธรรมชาติขี้เกียจมากกว่า แต่การรับรู้ในเชิงความรู้สึกรับรู้ได้เร็วกว่าในสิ่งที่เป็นข้อมูล เพราะฉะนั้นเรื่องเล่าที่ดีคือการเล่าที่มีลักษณะนำเสนอข้อมูลที่มาพร้อมกับการแสดงอารมณ์ผ่านภาพ คำพูด ภาษาที่มีการเร้าความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นเศร้า โกรธ กลัว รัก เกลียด นอกจากนั้น ยังมีการแสดงความคิดเห็นทำให้คนคล้อยตาม” เธอเฉลย
ซึ่งแม้แต่การเล่าข่าวหรือรายการข่าวในยุคนี้ก็ยังเลือกใช้เทคนิคเน้นเรื่องความรู้สึกดังกล่าวมาสร้างกระแสความนิยมในปัจจุบัน
ส่วนเหตุผลที่ละครแนวเชิงสร้างสรรค์สังคม หรือฟีลกู๊ดมักประสบความสำเร็จได้ยากนั้นเพราะนายทุนไม่อยากลงทุน เพราะมักมีแต่คำชมแต่ไม่มีเรทติ้ง แต่เธอเชื่อว่าละครฟีลกู๊ด ที่ทำให้หัวใจของผู้รับชมอบอุ่นและยิ้มตาม จะกลายเป็นเทรนด์ละครที่กำลังจะมาแรงในปี 2567 นี้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้คนดูไม่อยากเสพอะไรที่เคร่งเครียด หรือหนักเกินไป
นันทวรรณยังยอมรับว่า ที่ผ่านมาละครเน้นดรามา และใส่พฤติกรรม หรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคจิตเวชทำให้เกิดการตีตราจริง อีกทั้งรูปแบบการนำเสนอมีแต่ปัญหา ทว่าไม่มีทางออก ซึ่งเป็นข้อควรระวังที่คนทำบทต้องคิดรอบด้าน ซึ่งภายหลังละครนอกกระแส อย่าง “หมอหลวง” “มาตาลดา” ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งคำชมและเรทติ้ง ก็ทำให้คนทำละคร คนเขียนบท ต้องฉุกคิดว่าทำอย่างไรให้ละครสื่ออย่างเป็นธรรมชาติและปกติที่สุด
อีกเสียงสะท้อนจากผู้ผลิตละครโทรทัศน์และโปรดิวเซอร์ ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล จากบริษัท Master One VDO Production จำกัด กล่าวว่า ปัญหาของคนทำละครคือไม่กล้าเจาะลึกในอาชีพ หรือโรค เนื่องจากไม่มีการวิจัย หรือหาข้อมูลเพิ่ม ซึ่งต้องใช้เงินทุนและการสนับสนุนจากผู้จัด และไม่มีหน่วยงานใดบังคับให้ต้องลงลึก จะเห็นว่าละครไทยไม่มีใครรู้ว่าพระเอกนางเอกทำงานอะไร เน้นแต่เรื่องความรัก การแย่งชิง หากค่ายไหนลงลึกรายละเอียด เช่น การแพทย์ ทำถูกก็ดีไป ทำผิดก็ถูกตำหนิ เลยไม่มีใครกล้าทำ
“การทำละครไทยมีเรทติ้งเป็นตัววัด หากช่องต้องการละครคุณภาพต้องมีละครเรื่องอื่นที่เรทติ้งดีมาก ซับพอร์ตอย่างน้อย 90% หากช่องไม่ช่วยก็ไม่รอด น้อยมากที่จะออกมาดีทุกมิติเหมือน “มาตาลดา” ณิธิภัทร์ กล่าว
ฉันเป็นคนจิตเวช ฉันไม่ใช่คนไม่ดี
ด้าน ดร.สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยความมั่นคงร่วมสมัยศึกษา และหัวหน้าโครงการวิจัยการจัดการองค์ความรู้และพัฒนาคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยการสื่อสารประเด็นสุขภาพจิตในซีรีส์เกาหลีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคทางจิตเวช พบว่า สามารถช่วยสื่อสารข้อมูลที่ลดการตีตรา และสร้างความเข้าใจอย่างดีให้กับคนในสังคม นอกจากนี้ เนื้อหาของซีรีส์ยังถ่ายทอดเรื่องราวของโรคทางจิตเวชได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังมีความบันเทิงครบครัน การวางพลอตเรื่องให้ความรู้สึกร่วมน่าติดตาม ทำให้ซีรีส์เกาหลีได้รับความนิยมทั่วโลก ซึ่งผู้ผลิตละครไทยก็มีศักยภาพ สามารถทำได้ไม่แพ้ต่างชาติ
แต่สื่อในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นสื่อใดก็ตาม มักเสนอภาพจำและสร้างความเข้าใจผิดหรือนำเสนอข้อมูลผิด เกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะละคร
“ยกตัวอย่างหลายเรื่องที่สื่อออกไปว่า คนเป็นออทิสติกส์จะต้องเป็นคนไม่สมประกอบหรือมีความบกพร่องทางสติปัญญาที่ชาวบ้านเรียกว่า ปัญญาอ่อน ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เลย เขามีระดับของอาการหลายระดับและสามารถมีชีวิตปกติร่วมกับคนในสังคม” ดร.สุภาค์พรรณ เอ่ย
“อีกตัวอย่างคือคนที่เป็นไบโพลาร์ ถูกสื่อว่าเป็นบุคคลที่มีอารมณ์แปรปรวน สื่อมักเสนอภาพลักษณ์ว่าจะต้องโวยวาย แสดงออกความรุนแรง ผมเผ้ายุ่งเหยิง ถ้าเป็นผู้หญิงเหมือนคนบ้านั่งอยู่ริมถนน หรือไล่ทำร้ายผู้คน ซึ่งละครไม่เคยแสดงให้เห็นถึงที่มาหรือสาเหตุ ไม่ใช่พราะเป็นไบโพลาร์แล้วถึงทำร้ายผู้คน แต่เป็นเพราะเขาถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าอื่น ซึ่งไม่ใช่เกิดจากไบโพลาร์ แต่ก็ทำให้สังคมไทยหวาดกลัวผู้ป่วยจิตเวช ในทางกลับกัน ผู้ป่วยจิตเวชก็จะรู้สึกว่าทำไมตนเองถูกสังคมมองผิด ๆ แบบนี้ แทนที่เขาจะมีชีวิตปกติธรรมดา เขาก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่อยากให้ใครรู้ว่าเราเป็นผู้ป่วยจิตเวช”
ดังนั้น เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคจิตเวชและผู้ป่วยจิตเวช สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ จึงร่วมกับ สสส. จัดทำคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ หรือผู้ผลิตละครโทรทัศน์ รวมทั้งผู้ผลิตสื่อประเภทอื่น ๆ ใช้สร้างคอนเทนต์ ทำให้ประชาชนซึมซับความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตผู้ป่วยจิตเวชและการดูแลผู้ป่วยจิตเวช
“โครงการนี้เราอยากสื่อให้เห็นว่าปัญหาโรคจิตและผู้ป่วยจิตเวชเป็นโรคเหมือนกับโรคอื่น ๆ เช่น หวัดที่รักษาหายได้ ซึ่งนอกจากคู่มือ เรายังนำข้อมูลจากคู่มือมาผลิตเป็นคลิปวีดีโอ 2 คลิป ให้ความรู้เพื่อลดการตีตราและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชอีกด้วย ” ดร.สุภาค์พรรณ กล่าว
Empower สังคมไทยด้วยละครน้ำดี
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นการทำงานร่วมกับกลุ่มคนเขียนบท หรือทีมตัวแทนเบื้องหลังละคร การสนับสนุนบทที่เป็นมิตรต่อผู้ป่วยจิตเวช
“เป็นการออกแบบมาเพื่อทำงานกับสื่อสารมวลชนหรือนักเขียน แล้วก็อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งจะทำควบคู่กับอีกโครงการด้านกรมสุขภาพจิต เพื่อผลิตสื่อที่สร้างกำลังใจ และชีวิตให้มีความหวังมากขึ้น ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ เราต้องการสื่อที่ช่วยในการสื่อสารเชิงบวก มากกว่าการนำเสนอภาพความรุนแรง การฆ่ากันทำร้ายกัน”
ดร.ชาติวุฒิกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการใช้ชีวิตที่เคร่งเครียดและปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้า ทำให้สังคมไทยกำลังมีจำนวนผู้ป่วยด้านจิตใจเพิ่มขึ้น ไม่เพียงยอดผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าสูงขึ้น แต่ยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนนักจิตวิทยาที่ต้องดูแลสุขภาพจิตคนไทยกลับมีอัตราส่วน 1 ต่อแสนคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะตอบสนองความต้องการได้ครอบคลุม
ดังนั้น ภารกิจสำคัญเวลานี้คือการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือพาเข้าโรงพยาบาล ด้วยการตั้งรับในระดับพื้นที่ สร้างแกนนำด้านสุขภาพจิตในชุมชน ซึ่ง สสส. มีเป้าหมายมุ่งให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี เน้น “สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนที่จะเจ็บป่วย”
“ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้ชุมชนและสังคมไทยสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการมีมาตรการในการดูแลผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในชุมชน ด้วยแนวคิดสร้างก่อนซ่อม สร้างต้นทุนทางจิตวิทยา โดยใช้จิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้านคือ การรับรู้ศักยภาพของตนเอง (Self-efficacy) ความคาดหวังในการทำงาน (Hope) ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) การมองโลกในแง่ดี (Optimism)”
ดร.ชาติวุฒิสะท้อนว่า สื่อเป็นอีกกลไกสำคัญ ยิ่งสื่อชี้นำความรุนแรงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าความรุนแรงเป็นเรื่องใกล้ตัว
“สื่อเป็นฐานนันดรสำคัญ ที่อยู่รอบตัวเรา ในทุกเช้ามาเราเปิดรับสื่อ สื่อเป็นกลไกสำคัญที่ชี้นำ ให้สังคมเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้นกลไกเชิงนโยบายที่เข้าไปทำงานผลักดันร่วมกับสื่อเพื่อให้เห็นชีวิตเชิงบวกมากขึ้น คือหัวใจสำคัญ พัฒนาแนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจ และลดการตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่ากลุ่มอื่น” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่สังคมไทยต้องมีละครน้ำดี สร้างสังคมเชิงบวก ลดตีตราผู้ป่วยทางใจมากขึ้น