ป่วยอาหารเป็นพิษเพิ่มสูง แนะกินอาหารปรุงสุก
เตือนเมนูเสี่ยงอาหารเป็นพิษ พบสถิติแค่ครึ่งเดือนป่วยกว่า 4 พันราย ช่วง 15 – 24 ปีป่วยมากสุด เน้นย้ำดูแลในโรงเรียน – กิจกรรมเข้าค่าย ให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรค โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตลอดทั้งปี 57 พบผู้ป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษ 133,946 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15 – 24 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด3 อันดับแรกคือ หนองบัวลำภู (647.83 ต่อแสนประชากร) หนองคาย (616.66 ต่อแสนประชากร) และอุดรธานี (592.44 ต่อแสนประชากร)
ส่วนสถานการณ์ปี 58 ตั้งแต่วันที่ 1 – 19 ม.ค.58 พบผู้ป่วยแล้ว4,181 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15 – 24 ปี เช่นเดียวกับ ปี 57 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25 – 34 ปี และ 45 – 54 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่ เป็นนักเรียน ร้อยละ 27.5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 3 อันดับ อันดับแรกคือ ลำพูน (59.06 ต่อแสนประชากร) รองลงมาคือ อุดรธานี (24.08 ต่อแสนประชากร) และ ศรีสะเกษ (16.66 ต่อแสนประชากร)
สำหรับเมนูที่มักเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษที่พบได้ทุกปีมี 10 เมนู ได้แก่ 1. ลาบและก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ 2. ยำกุ้งเต้น 3. ยำหอยแครง 4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารและขนมที่ราดด้วยกะทิสด 6. ขนมจีน 7. ข้าวมันไก่ 8. ส้มตำ 9. สลัดผัก 10. น้ำแข็ง โดยเฉพาะกรณีอาหารที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจกนักเรียนหรือคณะท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ในปีนี้กรมควบคุมโรค เน้นเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดกับนักเรียนทั้งในโรงเรียนและกรณีนักเรียนเข้าค่ายและทัศนศึกษา ซึ่งเน้นป้องกันโดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความรู้แก่ครูในโรงเรียน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน นอกจากนี้ ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ อสม. ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ หากเกิดการระบาดของโรค กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมอนามัยลงพื้นที่สอบสวนโรค หาสาเหตุและควบคุมโรค รวมถึงตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนของประชาชนทั่วไปให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ