ป่วยซึมเศร้าต้องรักษาต่อเนื่อง
แฟ้มภาพ
“กรมสุขภาพจิต” แนะป่วยโรคซึมเศร้ารักษาได้ ต้องเน้นเข้าถึงบริการ ป้องกันผู้ป่วยรายใหม่ ชี้ถ้าไม่รักษาต่อเนื่องแนวโน้มสูง ให้จับตาพฤติกรรมสัญญาณเตือนก่อนสาย
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวถึงปัญหาฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเองที่ปรากฏในช่วงนี้ ซึ่งสาเหตุจากป่วยโรคซึมเศร้าว่า ไทย พบความชุกหรือโอกาสเกิดโรคซึมเศร้า ร้อยละ1.8 หรือประมาณ 9 แสนคน อาจกล่าวได้ว่า ใน 100 คนจะมี 2 คนที่เคยป่วยซึมเศร้าครั้งหนึ่งในชีวิต แต่โรคนี้รักษาได้ การแก้ปัญหาจึงต้องมุ่งไปที่การเข้าถึงบริการ และป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ หรือเมื่อป่วยแล้วต้องรักษาอย่างถูกต้องได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาเจ็บป่วยให้สั้นที่สุด ป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ลดอัตราฆ่าตัวตาย
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคซึมเศร้ารักษาได้ แต่ถ้าเป็นมากๆ แล้วไม่รักษา หรือรักษาไม่ต่อเนื่องจะมีแนวโน้มสู่การฆ่าตัวตายได้สูง โดยให้สังเกตพฤติกรรมต่อไปนี้ มักคิดลบตลอดเวลา ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ซึมเศร้า กังวลตลอดเวลา หงุดหงิดฉุนเฉียว นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือนอนมากเกินไป มีอาการทางกาย รักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น ปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน หรือทำให้การประกอบอาชีพ เข้าสังคม หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญบกพร่องลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงสามารถพบอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วยได้
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ