ปีใหม่ มอบความห่วงใย ด้วยหนังสือ 2565 รักอ่านสู้ภัยโควิด
ที่มา : บ้านเมืองออนไลน์
เเฟ้มภาพ
ปีใหม่นี้ สสส. มอบความรักความห่วงใยด้วยหนังสือ 2565 รวมพลังขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการหนังสือเด็กในบ้าน ลดพัฒนาการถดถอย ลดความเหลื่อมล้ำในเด็กปฐมวัย
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เปิดเผยว่า ทางแผนงานฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากการจัดเวทีภูมิภาคกว่า 100 องค์กร พบว่า กลไกขับเคลื่อนงานในชุมชนท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการหนุนเสริมให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการใช้หนังสือและกิจกรรมการอ่านเพื่อวางรากฐานการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะเด็กอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาต่างๆที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในกลุ่มเด็กปฐมวัย อาทิ พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า ทุพโภชนาการ การเข้าไม่ถึงวัคซีน ปัญหาสุขภาพช่องปาก รวมถึงสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ครอบครัวกำลังเผชิญ อาทิ การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสมวัย ก่อปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ขาดการพัฒนาทักษะด้านการใช้สมองระดับสูง มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเนื่องจากขาดกิจกรรมนอกบ้านอยู่ ฯลฯ
ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ทางแผนงานฯ ร่วมกับมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้เปิดบริการ ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ดูแลเด็กเล็ก ได้เข้าถึงข้อมูลความรู้การใช้เวลาหน้าจออย่างเหมาะสม ปลอดภัย มีตัวอย่างหนังสือดี และกิจกรรมสร้างสรรค์ในการพัฒนาเด็ก ร่วมลดปัญหาต่างๆ
อย่างไรก็ตาม จากการที่องค์การอนามัยโลกออกมาให้ข้อคำแนะนำสำหรับการดูแลเด็กช่วงวัย 0-2 ปี ว่าไม่ควรใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเลย สอดคล้องกับข้อเรียกร้องขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขอให้รัฐบาลนานาประเทศจัดหาหนังสือแจกจ่ายให้กับเด็ก เพราะหนังสือมีบทบาทอย่างมากต่อการช่วยให้เด็กเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว
ทางแผนงานฯ และเครือข่ายเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนนี้ จึงขอความสนับสนุนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Brief) "สวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย" เพื่อเตรียมการขับเคลื่อนให้เป็นจริง โดยจะได้นำเสนอข้อมูลและรูปธรรมต่าง ๆ ของการอ่านที่เป็นเครื่องมือและกระบวนการสำคัญในพัฒนาสมรรถนะเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน เสนอต่อทุกหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาเด็ก ทั้งระดับชุมชนท้องถิ่นและรัฐบาล เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ในสถานการณ์โควิด-19