ปีใหม่ปลอดภัย ปลอดป้าย ปลอดโปร
ที่มา : กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
เดินหน้าโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” หวังลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ เผยผลการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมา พบว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนดสูงถึง ๕๗ % ในกลุ่มนี้พบผู้มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ถึง ๔๔ % จึงมอบหมายให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ เน้นมาตรการเข้ม “เทศกาลปีใหม่ปลอดป้าย ปลอดโปร”
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงมาตรการสำคัญที่หน่วยงานภายใต้สังกัดของกรมควบคุมโรค ต้องเร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจโดยจัดทีมประชาสัมพันธ์ ตรวจเตือน และบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดี่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ เป้าหมายของการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือและตรวจเตือนบังคับใช้กฎหมายก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบทั้งสี่จังหวัดได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์
ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำกับผู้ประกอบการร้านค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา ๓๐ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น หรือการให้บริการอย่างอื่น รวมทั้งแจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเป็นตัวอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นการจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการกำหนดเงื่อนไขการขายในลักษณะที่เป็นการบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรงหรือโดยอ้อม เช่นการจัดกระเช้าของขวัญที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบไปกับสินค้าอื่นๆเพื่อรอจำหน่าย หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท และมาตรา ๓๒ ห้ามมิให้แสดงเครื่องหมาย ตรา สัญลักษณ์ โลโก้ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการโฆษณาหรือชักจูงใจทั้งทางตรงหรือทางอ้อม หากตรวจสอบพบการฝ่าฝืนต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง และห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือในขณะโดยสารตามประกาศสำนักนายกฯ ลักษณะการขาย บุคคลต้องห้าม การเร่ขาย เวลาขาย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ร้านค้าสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สองช่วงคือ ช่วงเช้า เวลา ๑๑.๐๐-๑๔.๐๐ น. ช่วงเย็น เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๔.๐๐ น. และต้องปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการจำหน่ายบุหรี่นั้น เน้นย้ำไม่ขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ไม่ตั้งโชว์หรือแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบและไม่แบ่งขายซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย
นายแพทย์ธีรวัฒน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคีเครือข่ายทุกระดับมีบทบาทสำคัญ ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ประกอบการร้านค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประชาชนได้รับรู้ข้อกฎหมายและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดโอกาสการเข้าถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเอื้อที่เป็นสาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุ จึงได้ผนึกกำลังเครือข่ายทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ตรวจเตือนตามมาตรการของกฎหมาย รับเทศกาลปีใหม่ ให้ทุกคนปลอดภัยรับปีใหม่อย่างมีความสุข