ปีใหม่ปลอดภัย คนไทยดื่มไม่ขับ
แฟ้มภาพ
ช่วงเทศกาลปีใหม่ นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงมากที่สุดช่วงหนึ่ง โดยสาเหตุหลักเกิดจากการ ‘ดื่มแล้วขับ’ การรณรงค์ และสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับผู้ขับขี่ยานพาหนะ เพื่อลดอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยทางท้องถนนจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จึงร่วมกันจัดแถลงข่าว “ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร สร้างความปลอดภัย ปีใหม่ 2559” ขึ้น ด้วยความต้องการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและสูญเสียชีวิต อีกทั้งสนับสนุนการใช้มาตรการสังคมโดยร่วมกันรณรงค์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ดื่มแล้วขับ
ด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนจากองค์การอนามัยโลก บนเวทีแถลงข่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 2557 – 5 ม.ค. 2558 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 2,997 ครั้ง เสียชีวิต 341 ราย และบาดเจ็บถึง 3,117 คน โดยสาเหตุหลักเกิดจากการดื่มสุราคิดเป็นร้อยละ 37
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวถึงภาพรวมในการสื่อสารรณรงค์ “ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร” อย่างแรกคือ ภาคีเครือข่ายของ สสส. ได้นำข้อมูลวิชาการด้านอุบัติเหตุจากองค์การอนามัยโลก มาจัดทำ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวมากขึ้น อย่างที่สอง คือ การจัดทำ เผยแพร่ข้อมูลความรู้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพยนตร์โฆษณา โปสเตอร์ แผ่นพับ ฯลฯ อีกทั้งการเผยแพร่ข้อมูลจากสื่อมวลชนส่วนกลาง สื่อมวลชนท้องถิ่น และการสื่อสารในพื้นที่ชนบทจะตรงกลุ่มเป้าหมายในช่วงเทศกาล เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในถนนสายรอง
สุดท้ายคือ การผลักดันนโยบายใหม่ๆ จากภาคีเครือข่ายโดยเริ่มจากพื้นที่ชุมชนก่อน อย่างเช่น การตั้งด่านตรวจดื่มแล้วขับในชุมชนโดยคนในชุมชนเอง หรือเรียกกันว่า ‘ด่านปูย่า’ ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่ตนเคารพนับถือตั้งขึ้น เพื่อไม่ให้วัยรุ่น หรือเยาวชนของตนออกนอกพื้นที่ชุมชนเมื่อดื่มสุรา เยาวชนก็จะเกิดความเกรงใจ ไม่อยากดื่มและขับรถออกนอกพื้นที่ชุมชน
ด้าน นายสุรสิทธิ์ ศิลปะงาม ผู้จัดการเลขามูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า การรณรงค์เรื่องอุบัติเหตุดำเนินการมากกว่า 12 ปี โดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย โดยย้อนหลังไปประมาณ 4 ปี อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลงไม่มากนัก และสาเหตุหลักเกิดจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าจะมีกฎหมายลงโทษเข้มงวดก็ตาม ถือว่ายังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องช่วยกันแก้ไข
ทางมูลนิธิฯ ได้เสนอมาตรการ “เมา ขับ จับ ขัง” ในช่วง 7 วันอันตราย อย่างช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ ซึ่งตอนนี้ได้นำมาตรการดังกล่าว เสนอกับทางภาครัฐ หากมีการกำหนดใช้มาตรการดังกล่าวได้จริงจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และมีผู้เสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 200 ราย
เสียงสะท้อนของผู้ประสบเหตุจากคนดื่มแล้วขับ อย่างคุณสัณห์ สอนรักษ์ บอกว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตนนั้นทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะตนกลายเป็นผู้พิการต้องนั่งวีลแชร์ จากที่เคยมีความฝันว่าจะเป็นวิศวกรก็จบลง ตนอยากจะบอกผู้ที่ดื่มแล้วขับว่าเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายแรงต่อผู้ขับขี่และคนบนท้องถนนโดยตรง เป็นการกระทำไม่รับผิดชอบต่อสังคม เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นไม่ใช่แค่ผู้ประสบเหตุเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบแต่มันส่งผลต่อครอบครัว และคนรอบข้างด้วยเช่นกัน
“ผมอยากให้เกิดการรณรงค์อย่างแพร่หลาย ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง ยิ่งในช่วง 7 วันอันตราย อย่างเทศกาลปีใหม่ อยากฝากถึงผู้ขับขี่ทุกคน ควรนึกถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นด้วย ก่อนขับขี่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสภาพรถทุกคัน และที่สำคัญคือ ไม่ควรดื่มสุรา” คุณสัณห์ ฝากทิ้งท้าย
เทศกาลปีใหม่นับเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุข และรอยยิ้ม มาร่วมกันรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ลดการสูญเสียชีวิต เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2559 กันดีกว่าค่ะ
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th