ปีใหม่นี้ คนไทยไม่มีพุง
ยิ่งใหญ่…ยิ่งตายเร็วเท่านั้น
จากวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการที่มากเกินความต้องการของร่ายกาย ขาดการออกกำลังกาย มีความเครียด สูบบุหรี่ และดื่มสุราเพิ่มขึ้น ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้มีผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีต่างๆ จนนำไปสู่ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome)
หรือที่เรียกว่า โรคอ้วนลงพุง ซึ่งภาวะนี้จะมีไขมันปริมาณมากสะสมในช่องท้อง และมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากกว่าคนทั่วไป โดยไขมันในช่องท้องจะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ (free fatty acid หรือ non-esterified fatty acid, NEFA) ทำให้กรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นในกระแสเลือด และยับยั้งเมตาบอลิสมของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ระดับไขมันในเลือดผิดปกติความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแดงแข็งตีบและอุดตัน ดังนั้นคนที่อ้วนลงพุง ที่มีขนาดของรอบเอวผู้ชายมากเกิน 90 เซนติเมตร และผู้หญิงรอบเอวมากเกิน 80 เซนติเมตร จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและเบาหวาน มากกว่าการมีไขมันสะสมที่สะโพก โดยรอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า
ดังนั้น “ยิ่งพุงใหญ่เท่าไร ยิ่งตายเร็วเท่านั้น” จากข้อมูลในประเทศไทยพบว่าคนที่อ้วนลงพุงเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่อ้วนลงพุงถึง 3 เท่า มีความดันโลหิตสูง และไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูงมากกว่าและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า รวมทั้งเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งหากเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เหล่านี้ อาจก่อให้เกิดความพิการจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของโรค ทำให้ต้องเป็นภาระของครอบครัวและสังคม รวมทั้งสูญเสียงบประมาณของประเทศไทยในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก
หากสามารถลดน้ำหนักได้เพียงร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 ของน้ำหนักที่เคยเป็นก็จะช่วยให้ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดีขึ้นได้ และถ้าลดขนาดของรอบเอวได้ทุกๆ 5 เซนติเมตร จะลดโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า ซึ่งที่ผ่านมา มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคเรื้อรังอื่นๆ ของคนไทยส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางคลินิกและชีวเคมี แต่ในการควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญยังไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควร จึงทำให้ผลการควบคุมปัจจัยที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ และต้องใช้ทรัพยากรสูงมาก
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการสร้างสุขภาวะที่ถูกต้อง และลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โดยความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ สมาคมสุขศึกษา พลศึกษา และสันทนาการ และสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายคนไทยไร้พุง” โดยให้ความสำคัญในการรณรงค์โรคอ้วนลงพุง เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนการควบคุมไม่ให้เกิดโรคอ้วนลงพุง โดยอิงหลักวิชาการที่ถูกต้องและทันสมัย มีประสิทธิภาพ และมีความคุ้มค่าสูงสุด ทั้งนี้เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนการดำรงชีวิตประจำวันอย่างถาวร โดยการใช้ “หลักภารกิจ 3 อ.” ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งเป็นการประยุกต์มาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อควบคุมและป้องกันภาวะอ้วนลงพุง นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงหรือเกิดโรคอ้วนลงพุงแล้วสามารถใช้หลักการเดียวกันนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้
ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และมีการขยายผลในวงกว้างโดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนขององค์กรหรือชุมชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ จะเป็นแกนกลางในการผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ ในด้านการควบคุมป้องกันโรคอ้วนลงพุงทั้งในระดับชุมชนและในระดับประเทศขึ้นที่มีการเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกัน โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการ และความร่วมมือของเครือข่ายอื่นๆ หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ที่จะช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ออกสู่สาธารณะ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามผลงานกิจกรรม ข่าวประชาสัมพันธ์และข้อมูลความรู้ต่างๆ ของเครือข่ายฯ ได้ทาง www.thairaipoong.com
เรื่องโดย : “เครือข่ายคนไทยไร้พุง”
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:28-07-51