ปิ๊งส์ เปิดโลกทัศน์คนวัยมันส์ สร้างสรรค์โฆษณาปลอดบุหรี่
ปิ๊งส์ จับมือนักโฆษณามืออาชีพ ติวเข้มคนวัยมันส์สร้างสรรค์งานโฆษณารณรงค์ไม่สูบบุหรี่ หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ ไม่สูบบุหรี่” ชี้ ไอเดียอยู่รอบตัว หากนำมาใช้ไม่ถูกต้องจะล้มเหลว ระบุเทคนิคต้องตอบตรง มั่นใจคนดูสนใจ จดจำงานโฆษณาได้
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกฯ สสส. ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ จัดกิจกรรมเปิดโลกทัศน์กับนักโฆษณามืออาชีพ หัวข้อ “ส่งงานประกวดโฆษณาอย่างไรให้เข้ารอบ” ในโครงการประกวดภาพยนตร์โฆษณา ภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ ไม่สูบบุหรี่” ที่เดอะสไตล์บายโตโยต้า
โดย นายวิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ตื่นตัวเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น การสร้างสรรค์งานโฆษณาที่ประสบความสำเร็จต้องสามารถปรับและเปลี่ยนทัศนคติของเยาวชนคนอื่นๆ ที่สูบบุหรี่หรือคิดจะลอง โบกมือลาและหันหลังให้กับบุหรี่กลับใจมาเป็นคนที่มีรับผิดชอบต่อสังคม ต่อต้านการสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาสมาคมโฆษณาฯ จัดเพียงแค่กิจกรรมประกวดโปสเตอร์และสิ่งพิมพ์ ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการประกวดเป็นโฆษณาทางโทรทัศน์ เมื่อมีโอกาสก็คิดว่าจะทำให้มันเต็มที่
ซึ่งนายชูเกียรติ ครูทรงธรรม นักสร้างสรรค์โฆษณามืออาชีพ กล่าวว่า การสร้างสรรค์งานโฆษณาให้น่าสนใจนั้น “ไอเดีย” ถือเป็นหัวใจของการคิด ซึ่งจริงๆ แล้วไอเดียอยู่รอบๆ ตัว ถ้าเราช่างสังเกตก็จะสามารถหาไอเดียได้ตลอดเวลา ซึ่งวิธีการและเทคนิคที่จะนำไอเดียเหล่านั้นมาใช้กับการประกวดสามารถทำได้ด้วยการตีโจทย์ให้แตกก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถ้าวิเคราะห์โจทย์ไม่ดีก็เหมือนเดินผิดทิศผิดเส้นทางตั้งแต่แรก
“โดยวิธีการนั้นต้องประกอบไปด้วย 1.การตั้งคำถามด้วยคำว่า “ทำไม” กลุ่มเป้าหมายจึงติดบุหรี่ 2.หาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ 3.เจาะลึกลงไปในจิตใจของผู้เสพ และ 4.ต้องลองเขียนออกมาเป็นประโยคแล้วตรวจสอบดูว่าแข็งแรงพอหรือไม่ และ 5.มีวิธีพูดใหม่หรือเปล่า เมื่อได้แนวทางที่ดีแล้วจึงมาหาวิธีนำเสนอให้น่าสนใจต่อไป” นายชูเกียรติ กล่าว
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า แต่หัวใจสำคัญที่สุดที่จะทำให้เยาวชนสามารถก้าวสู่การเป็นนักโฆษณามืออาชีพได้นั้น อันดับแรกต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าชอบงานนี้จริงหรือไม่? ก็ต้องทำงานเก็บเป็น portfolio ไว้ทั้งจะเป็นงานจากการประกวดหรือคิดโจทย์เองก็ได้ เพื่อดูว่าไอเดียเป็นอย่างไร? ต่อมาต้องเริ่มเรียนรู้จากงานดีๆ แล้วลองนำมาประยุกต์แล้วคิดต่อ แต่ “หัวใจ” สำคัญที่สุดต้องเป็นคนที่มีความอดทนและทนภาวะกดดันได้ดี เพราะเป็นงานที่เครียด ต้องทำงานแข่งกับเวลา เมื่อทำได้แบบนี้ได้การก้าวมาเป็นนักโฆษณามืออาชีพ อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว” นักสร้างสรรค์โฆษณามืออาชีพ กล่าว
ด้านนายอลงกต เอื้อไพบูลย์ ผู้กำกับโฆษณามืออาชีพ กล่าวว่า ถ้าอยากให้ทำงานแบบมืออาชีพต้อง ทำให้ดีที่สุดทุกๆ งาน งานไหนไปไกลได้ก็ดันให้สุดตัว แต่ให้นึกเสมอว่าโฆษณาต้องตีโจทย์งานให้แตก ซึ่งไอเดียโฆษณาที่น่าสนใจต้องทำให้แปลก มีจุดเล่า มีความชัดเจนสามารถสร้างการจดจำได้ เพราะเทคนิคของการทำโฆษณา คือ ต้องตอบตรงๆ คนดูถึงจะสนใจและจดจำงานโฆษณาได้
นายอลงกต กล่าวต่อว่า วิธีคิดงานโฆษณาที่ดีนั้น จำเป็นต้องคิดออกมาเป็นภาพก่อนที่จะนำเสนอเป็นไอเดีย เพราะเมื่อเราได้ภาพแล้วการสร้างงานโฆษณาตามภาพก็จะง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังในการทำภาพยนตร์โฆษณา ภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ ไม่สูบบุหรี่” นั้น คือควรหลีกเลี่ยงเรื่องที่เกิดในหอพัก ต้องใส่ชุดนักศึกษา การถ่ายทำในมหาวิทยาลัย เพราะใกล้ตัวเกินไป เมื่อนำเสนอไปแล้วคนดูมันจะไม่อินและไม่เชื่อตาม หากหลีกเลี่ยงและสามารถตีโจทย์ได้อย่างชัดเจนงานโฆษณาที่ออกมาก็จะน่าสนใจ
“นักเรียน นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศสนใจสามารถรวมกลุ่มกันทีมละไม่เกิน 3 คน ส่งต้นร่างภาพยนตร์โฆษณา (storyboard) และบท ความยาวไม่เกิน 30 วินาที โดยสามารถส่งผลงานเข้ามาได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มีนาคม 2554 ผลงาน 20 ทีมแรกที่ผ่านเข้ารอบ จะได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการและเรียนรู้กระบวนการผลิตงานโฆษณาในวันที่ 22 – 24 เมษายน 2554 (3 วัน 2 คืน) และ 10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนผลิตภาพยนตร์โฆษณาจริง และร่วมชิงรางวัลประกวดในลำดับต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานประกวดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 36/2 ซ.ประดิพัทธ์10 ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรืออีเมล์: [email protected]” ผู้กำกับโฆษณามืออาชีพ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่: คุณฤทัยรัตน์ ไกรรอด(จ๋า) มือถือ 083-806-8755, 080-607-4234 และ คุณกนกออม บุญมาเลิศ (เมย์) มือถือ 085-482-2342 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกฯ สสส. โทรศัพท์ 02-6126996 ต่อ 102
ที่มา: แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์