ปิดโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย
ที่มา : MGR Online
ภาพโดย สสส.
สธ. จับมือ สสส.และภาคี รณรงค์เลิกบุหรี่ ชวนใช้วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. เป็นวันเริ่มต้น เผย 3 ปี คนร่วมโครงการฯ 2.9 ล้านคน เลิกได้ 6 เดือนขึ้นไป 1.1 แสนคน ลดค่าใช้จ่ายซื้อบุหรี่ 12 ล้านบาทต่อวัน หรือมากกว่า 4,600 ล้านบาทต่อปี สร้างสุขและสุขภาพดีให้คนทั่วประเทศ
30 พ.ค. ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ บุคคล/องค์กร/หน่วยงาน ผู้มีผลงานดีเด่น โครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” รวม 6 ประเภทรางวัล แบ่งเป็นระดับอำเภอ จังหวัด เขต ภาค และระดับชาติ รวมทั้งสิ้น 88 รางวัล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจเชิดชูเกียติผู้ปฏิบัติงานที่มีผลการดำเนินงานชวนคนเลิกบุหรี่ ตามโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ซึ่งในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดคำขวัญคือ “Tobacco burns your lungs” (บุหรี่เผาปอด)
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป้าหมายดำเนินการเพื่อลดอัตราประชากรที่สูบบุหรี่ในกลุ่มอายุ 15 ปี ขึ้นไป และกำหนดให้โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน เป็นพันธกิจสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายหมออนามัย มีเป้าหมาย เชิญชวน และรณรงค์ให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ จำนวน 3 ล้านคน ในระยะเวลา 3 ปี ถือเป็นโครงการสร้างเสริมสุขภาพ ลดปัญหาการเจ็บป่วยและการสูญเสียจากการสูบบุหรี่ ดำเนินการผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่ชักชวนผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการและบันทึกข้อมูลในระบบการรายงานบนฐานข้อมูล HDC (Special pp) ซึ่งขณะนี้มีผู้สมัครใจเลิกบุหรี่แล้ว 2,950,472 คน มีผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ 6 เดือนขึ้นไป จำนวน 116,405 คน
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า หน่วยงานได้รับรางวัลชูเกียรติ ผู้มีผลงานดีเด่น โครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ ระดับชาติ ได้แก่ 1. ประเภทอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ดีเด่น นางสุภาพร มะเสนัย จ.นครพนม 2. ประเภท รพ.สต. ดีเด่น รพ.สต.บ้านใน จ.สุราษฎร์ธานี 3.ประเภทชุมชนดีเด่น ชุมชนบ้านคลองอาราง ต.บ้านแก้ง อ.เมือง จ.สระแก้ว 4.ประเภทสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดีเด่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด 5.ประเภทสำนักงานสาธารณสุขอำเภอดีเด่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และ 6.ประเภทคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอดีเด่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ ที่ผ่านมาสามารถทำให้คนเลิกบุหรี่ได้จำนวนมาก สามารถทำให้ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้นานเกิน 6 เดือน สูงถึง 116,405 คน หากนำมาเปรียบเทียบจะพบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อบุหรี่เทียบ 1 วันต่อ 1 ซอง โดยค่าเฉลี่ยราคาบุหรี่อยู่ที่ 116 บาทต่อซอง ทำให้ประหยัดเงินซื้อได้ถึง 12 ล้านกว่าบาทต่อวัน หรือมากกว่า 4,600 ล้านบาทต่อปี นั่นคือการลดรายจ่ายให้ผู้สูบและครอบครัว และยังสร้างสุขภาพที่ดีควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นกำลังหลักในการดำเนินงาน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนสนับสนุน การเลิกสูบบุหรี่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้สูบ ครอบครัวและคนรอบข้าง ผลดีต่อร่างกาย หากเลิกได้นาน 3-9 เดือน อาการไอและการหายใจ การทำงานของปอดจะดีขึ้น หากเลิกสูบ 5 ปี ความเสี่ยงโรคหัวใจลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ที่ระบุว่าผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตปีละ 5 หมื่นกว่าคน ตายเป็นอันดับหนึ่งคือ โรคมะเร็ง รองลงมาโรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งปี 7 หมื่นกว่าล้านบาท และคิดเป็น 18% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด
นางสุภาพร มะเสนัย อสม. จ.นครพนม และอสม. ดีเด่นระดับชาติของโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ กล่าวว่า ตนเองเป็น อสม. มากว่า 21 ปี ทำงานด้วยใจรักและอยากเห็นคนมีสุขภาพที่ดี การทำงานด้านชวนคนเลิกบุหรี่ได้ร่วมป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ฝีกสอนอาชีพให้กับนักเรียนใช้เวลาว่างเกิดประโยชน์ ส่วนการช่วยผู้เสพให้เลิกสูบบุหรี่ ตามโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ เริ่มด้วยการสำรวจข้อมูลผู้ติดบุหรี่ ทำประชาคมเพื่อคืนข้อมูลผู้สูบบุหรี่ให้กับชุมชน กำหนดเป้าหมายทำงานภายใน 5 ปี (ปี 2562-2567) ทำให้เป็นหมู่บ้านปลอดบุหรี่ นอกจากนี้ยังร่วมพัฒนาศักยภาพ อสม. ให้มีความรู้ช่วยเลิกบุหรี่ คัดกรองผู้สูบบุหรี่และชวนเข้าร่วมโครงการ ติดตามกระตุ้น และรณรงค์ ลด ละ เลิกบุหรี่โดยชุมชนมีส่วนร่วม ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการ ลด ละ เลิกบุหรี่หมู่บ้าน คัดเลือกคนต้นแบบช่วยเลิกบุหรี่ แจ้งข้อมูลและติดตามช่วยเลิกบุหรี่ทางกลุ่มไลน์ อสม. ใช้สมุนไพรช่วยเลิก เช่น ชาหญ้าดอกขาว ใบโปร่งฟ้า ควบคู่นวดกดจุดเท้าหยุดบุหรี่ และใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า “ไม้บรรทัดคัดกรองภาวะติดบุหรี่-สุรา” โดยอ้างอิงข้อมูลการวัดจากแบบประเมินระดับการติดสารนิโคติน มีการแบ่งสีและระบุลำดับขั้นการติดบุหรี่ไว้ในไม้บรรทัด ทำให้ อสม. อ่านค่าได้แม่นยำ ทำงานง่ายและมีความมั่นใจมากขึ้น