‘ปิดเทอม’ อันตราย ‘สร้างสรรค์’ เด็กไทยต้องการด่วน

 


มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะมีเงินส่งลูกให้ไปเรียนพิเศษ หรือเข้าค่ายทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปิดเทอม แต่มีเด็กส่วนใหญ่ที่ต้องอยู่กับสิ่งไม่สร้างสรรค์ทั้งสมองและสติปัญญา”…เป็นการระบุของ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ส่วน นพ.สุริยเดว ทรีปาตรี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. ก็ระบุว่า…’ปิดเทอม 1ครั้ง เด็กน้ำหนักตัวขึ้น 3-4กิโลกรัม เพราะเด็ก 70-80%ใช้เวลาดูทีวี เล่นเกม กินอาหารไม่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเด็กในเขตเมือง เนื่องจากเด็กไม่ทำกิจกรรม ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งอ้วน สายตาสั้นเทียม ฟันผุ ลดทอนพัฒนาการ ติดเกม นำไปสู่ความก้าวร้าว”…ทั้งนี้ การระบุทั้ง 2ส่วนนี้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ “น่าเป็นห่วง”


ตอกย้ำถึงสถานการณ์ปัญหานี้ จากผลสำรวจเอแบคโพลในปี 2551พบว่า ช่วงปิดเทอมเด็กและเยาวชน 84.9%ใช้เวลาไปกับการชอปปิงตามห้าง อีก 67.3%ดูโทรทัศน์/วิดีโอ ขณะที่ 62.1%เล่นอินเทอร์เน็ต และ 52.2%เล่นเกมคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นเมื่อสำรวจกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ ที่เยาวชนทำในช่วงปิดเทอม อันดับแรก 53.8%ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูภาพโป๊เปลือย อีก 41.5%ดูวิดีโอ-ดีวีดีที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ 29.1%มีเพศสัมพันธ์กับแฟน/คู่รัก และ 18.3%ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ทั้งนี้ ในช่วงปิดเทอมเด็กและวัยรุ่นนิยมเข้าไปใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งมัก พบปัญหา ถูกข่มขู่ รีดไถ มากที่สุด รองลงมา ถูกทำร้ายร่างกาย ตบ ตี ชก ต่อย, เป็นหนี้ร้านอินเทอร์เน็ต, ถูกลวนลามทางเพศ พยายามข่มขืน, ถูกบังคับให้สูบบุหรี่ ตามลำดับ


 


“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนเด็กหายออกจากบ้านมีมากขึ้นจากสถิติศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี มูลนิธิกระจกเงา พบว่าช่วงต้นปี 2553มีเด็กหายถึง 70คน โดย 90%เป็นเด็กผู้หญิง และจากสถิติที่ศูนย์เฝ้าระวังฯ รับแจ้งคนหายผ่านทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ในปี 2552 เฉลี่ยวันละ 10-15 ราย โดย 80% ติดตามกลับมาได้ และอีก 1% เสียชีวิต โดยเด็กที่หายไปส่วนใหญ่เป็นหญิง อายุ 11-15 ปี สอดคล้องกับข้อมูลการเสียชีวิตของเด็ก ในกลุ่ม 1-14 ปี ซึ่งเฉลี่ยเดือนละ 280คน และพบว่า ในช่วงปิดเทอม เดือน เม.ย. เสียชีวิตมากที่สุด 400คน รองลงมาคือ มี.ค. พ.ค. และ ต.ค. โดยสาเหตุอันดับ 1 คือ จมน้ำ 47% คิดเป็น 5-6 คน/วัน ในช่วงปิดเทอม รองลงมาคือ อุบัติเหตุอื่นๆ และอันดับ 3คือ อุบัติเหตุจราจร…” …ทพ.กฤษดา กล่าว


พร้อมทั้งบอกว่า…กับการ ปิดเทอมสร้างสรรค์’นั้น สสส. ได้รวบรวม 32กิจกรรม แบ่งเป็น 5ด้านคือ…1. สนุกสุดมันส์กับกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ อบรมทำหนังสั้น ผลิตเพลงและมิวสิกวิดีโอ ดนตรี ละคร ศิลปะ, 2. แค่ขยับเท่ากับเริ่มออกกำลังกาย อาทิ สอนว่ายน้ำ กิจกรรมเดิน-วิ่ง, 3. ฝึกทักษะสร้างอาชีพ, 4. อบรมกิจกรรมเสริมปัญญา, 5. ค่ายอาสาสร้างสุข อาทิ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ซึ่ง สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทางเว็บไซต์  www.happyschoolbreak.com  โดย สสส. และเครือข่าย หวังว่าจะจุดประกายให้ครอบครัวตื่นตัวเอาใจใส่จัดกิจกรรมที่เหมาะสมในช่วงปิดเทอมให้เด็ก รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ มีนโยบายเรื่องนี้จริงจังและต่อเนื่อง


“สสส. เริ่มกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ใช้วิธีขอความร่วมมือ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการจัดกิจกรรมและพื้นที่สำหรับเด็ก โดยจะรวบรวมข้อมูลของพื้นที่ซึ่งเป็นเครือข่าย สสส. ตอนนี้มีประมาณ 152 โครงการ ครอบคลุมเด็ก 500,000 คน โดย สสส. ยินดีรับข้อมูลความคิดเห็นและตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถบอกเล่าในเว็บไซต์ข้างต้น จากนั้นจะรวบรวมเป็นองค์ความรู้เผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ต่อไป”…ทพ.กฤษดา ระบุ



ขณะที่ นพ.สุริยเดว บอกว่า…กิจกรรมสันทนาการที่มีประโยชน์ ที่จะแก้ปัญหากิจกรรมไม่สร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอมได้นั้น พ่อแม่ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก สลับสับเปลี่ยนกันทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยมี 6 ฐานกิจกรรมสำคัญคือ 1. ดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง 2. ศิลปะ วาดภาพ สร้างงานศิลปะ ทั้งสองกิจกรรมนี้ช่วยสร้างจินตนาการให้เด็ก 3. เที่ยวพิพิธภัณฑ์ ช่วยสร้างภูมิปัญญานอกหลักสูตร เพิ่มพัฒนาการเรียนรู้ 4. เที่ยววัด ช่วยปลูกฝังจิตสำนึก เพิ่มทักษะชีวิตและความพอเพียง 5. พลังกาย เพิ่มการออกำลังกาย ผจญภัย ท่องเที่ยว 6. ทำสิ่งที่ชอบ สามารถสร้างพลังตัวตนให้กับเด็ก เพิ่มพลังครอบครัว


กิจกรรมเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะได้ทุกวัย


“การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอม นอกจากครอบครัวแล้ว ชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมได้ รวมถึงคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด ต้องช่วยกันสร้างเสริม พัฒนา ป้องกันเด็กไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง ทั้งอุบัติเหตุ ยาเสพติด ทะเลาะวิวาท ติดเกม ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ ที่จัดกิจกรรมวันเด็ก อาจพิจารณาขยายกิจกรรม ไม่ทำเพื่อเด็กวันเดียว คือขยายกิจกรรมเพื่อเด็กจาก 1 วัน สลับสับเปลี่ยนกันทำทั้งช่วงปิดเทอม จะได้ประโยชน์อย่างมาก”…นพ.สุริยเดว กล่าว


ปิดเทอมสร้างสรรค์” เรื่องนี้ควรต้องช่วยกันทำ เพื่อมิให้เด็กไทยมีปัญหามากไปกว่าที่เป็นอยู่!!


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ