ปิดเทอมใหญ่ในวัยทำงาน
เรื่องโดย : ปรภัต จูตระกูล Team Content www.thaihealth.or.th
ผู้ให้สัมภาษณ์ : นายสุรชัย ศรีนรจันทร์, น.ส.ณัชชา ศรีชมภู และเอกจิต สว่างอารมย์
ภาพประกอบโดย : นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และfacebook : Media for health project
ปิดเทอมใหญ่ในวัยทำงาน
หากคนวัยทำงานสามารถมีปิดเทอมได้ หลายคนอาจจะคิดถึงวันหยุดอันแสนสบาย นอนอยู่บ้าน ไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่สุดท้ายก็กลับมาสู่วันทำงานแบบไม่เต็มใจ เพราะวันหยุดไม่ได้เติมเต็มอะไรให้กับชีวิต
เมื่อพูดถึง ‘ปิดเทอม’ ภาพที่ผู้ใหญ่หลายคนคิดคือ ความสะดวกสบายบนขนส่งมวลชนสาธารณะ ไม่ต้องแออัด เพราะเด็กน่าจะนอนอยู่บ้าน เล่นอินเทอร์เน็ต ไปเที่ยวกับเพื่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วในปัจจุบัน เด็กและเยาวชนสมัยนี้กลับมีความคิดสร้างสรรค์กว่านั้น
จากการเก็บข้อมูลสำรวจความคิดเห็นบนหน้าเฟซบุ๊ก สสส. ตั้งแต่วันที่ 18-22 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า ปิดเทอมใหญ่ เด็กและเยาวชนอยากเข้าค่ายอาสา เข้าค่ายเสริมสร้างประสบการณ์มากที่สุด 45% รองลงมาคืออยากทำงานพิเศษ 24% และอยากท่องเที่ยว 22% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการถอดบทเรียนรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มวัยของ สสส. ที่พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่เด็กสนใจ ได้แก่ เข้าค่าย 45% ท่องเที่ยว/ทัศนศึกษา 22.4% และกิจกรรมกีฬา 21.9% ตามลำดับ
การเข้าค่ายในวัยเด็กอาจเห็นภาพของลูกเสือเนตรนารี พอโตขึ้นช่วงปิดเทอมมาอาจมีค่ายธรรมมะ ค่ายจิตอาสา ค่ายวิชาการ ค่ายสร้างเสริมประสบการณ์ ฯลฯ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงานทำให้ไม่มีปิดเทอมและการเข้าค่ายอีกต่อไป การหยุดในแต่ละครั้งต้องอาศัยวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันลาพักร้อนหรือลาป่วย จากวัยรุ่นก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ทำให้ความสดใสในชีวิตเริ่มหายไป และวันว่างก็หมดไปกับการนอนพักอยู่บ้าน
วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. ขอนำเสนอประสบการณ์การปิดเทอมอย่างสร้างสรรค์ ฉบับวัยทำงาน ที่จะปลุกให้ผู้ใหญ่อย่างเรากลับมามีความสดใสและพลังเต็มร้อยอีกครั้ง ผ่านวัยทำงานทั้งสามคนที่จะมาบอกเล่าถึงการเข้าค่ายในวัยผู้ใหญ่ ที่เปลี่ยนวันหยุดอันแสนจะธรรมดา ให้กลายเป็นวันหยุดที่อัศจรรย์วันหนึ่ง
เพราะสังคมในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นสังคมเมือง การออกค่ายอาสาในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ได้เห็นอะไรใหม่ ๆ เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง เห็นผู้คนที่หลากหลาย จึงเป็นจุดที่ทำให้ ‘พี่เอสดี้’ สุรชัย ศรีนรจันทร์ กลับมาเข้าค่ายอีกครั้ง หลังจากเรียนจบไปหลายปี
“พี่กลับมาเข้าค่ายโดยผันตัวเองเป็นผู้จัด ภายใต้ชมรมศิษย์เก่าของคณะฯ เพื่อชวนเพื่อนเก่าให้มาเจอกัน มันเป็นกิจกรรมที่มากกว่าการนัดกินข้าว กินเลี้ยง ที่พอจบก็แยกย้ายกัน เพราะการชวนมาทำค่ายอาสา ด้วยกันคือการพากลุ่มคนที่มีหัวใจเดียวกัน มาร่วมกันพัฒนาสังคมชนบทด้วยกัน”
นอกจากนี้ ‘พี่เอสดี้’ ยังฝากถึงกลุ่มจิตอาสาที่นำของไปบริจาคแก่ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลว่า “อยากให้ถามความต้องการของพวกเขาก่อนว่าต้องการอะไร เพราะหากนำเสื้อผ้าของคนเมืองไปให้ก็จะไม่สร้างประโยชน์ การมีจิตอาสาในการมอบของให้ควรสร้างประโยชน์ให้เขาได้จริง ๆ”
“การไปค่ายอาสา คือการที่เราไปโดยสมัครใจ ไม่มีใครบังคับ ไปทำประโยชน์ให้คนอื่น” ‘พี่เก้า’ ณัชชา ศรีชมภู เล่าถึงเมื่อครั้งที่เคยไปค่ายอาสาพัฒนาชนบทของมหาวิทยาลัยว่า เดิมทีตนต้องการหาอะไรทำในวันหยุด จึงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของค่ายอาสา ซึ่งจากประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้รู้ว่าการทำสิ่งที่มีประโยชน์ด้วยใจ ได้เติมเต็มชีวิต เติมเต็มความสุข และเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตที่ดี
‘พี่เก้า’ บอกกับเราอีกว่า แม้ว่าพี่จะเรียนจบมาหลายปีแล้ว ก็ยังคงหาเวลาว่างไปค่ายอาสาฯ ใช้วันหยุดพักผ่อนของตัวเองเพื่อไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคม เพราะมันคือการเพิ่มพลังบวกให้กับตัวเอง นอกจากนี้การได้เป็นผู้ให้คือสิ่งที่ทำให้รู้สึกอิ่มเอมในหัวใจอีกด้วย
‘พี่จู้’ เอกจิต สว่างอารมย์ เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อนว่า การที่ตนไปเข้าค่ายอาสาเป็นเพราะต้องการไปเที่ยวในที่ใหม่ ๆ เปิดมุมมองใหม่ ๆ จึงได้ใช้วันหยุดไปกับการไปค่ายอาสาฯ ในวัย 32 ปี และได้รับบทบาทเป็นผู้ดูแลและประสานงานค่าย จากที่เดิมทีตั้งใจจะเป็นเพียงผู้เข้าร่วมธรรมดา การไปค่ายอาสาฯ ในช่วงวันหยุด ‘พี่จู้’ มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดค่ายให้เด็กและเยาวชน ผ่านโครงการนักสื่อสารสุขภาวะ (Media for health Project) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกฝนและพัฒนาเยาวชนสู่การเป็น ‘นักสื่อสารสุขภาวะ’ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส.
“พี่มองว่า ‘ค่าย’ คือตัวเลือกหนึ่งที่จะทำให้เด็กมีกิจกรรมดี ๆ เพิ่มในวันหยุด ถือเป็นหนึ่งตัวเลือกให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมทำในวันว่าง” 'พี่จู้' เล่าให้ฟังว่า การสร้างค่ายเพื่อผลิตเด็กและเยาวชนให้เป็นนักสื่อสารเพื่อผลิตสื่อสุขภาพนั้น ถือเป็นการผลิตคนรุ่นใหม่สร้างสื่อเพื่อสื่อสารในภาษาเดียวกับคนรุ่นเดียวกัน เพราะกลุ่มเด็กและเยาวชนจะสามารถแปลงเนื้อหาได้โดนใจมากกว่า และในอนาคตเด็กเหล่านี้จะเติบโตอย่างมีคุณภาพและกลายเป็นผู้นำสร้างกิจกรรม ดี ๆ ขึ้นต่อไป
การเข้าค่ายไม่ได้จำกัดอยู่แค่ช่วงวันหยุดหรือปิดเทอมของเด็กและเยาวชน แต่ในกลุ่มคนวัยทำงานก็สามารถไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาได้ทั้งที่มีวันหยุดไม่กี่วัน จากเรื่องเล่าของ 'พี่เก้า พี่เอสดี้ และพี่จู้' แสดงให้เห็นแล้วว่า การเข้าค่ายในวัยเด็กเป็นการปลูกฝังจิตอาสาให้พวกเขา และความรักในการทำค่ายยังติดอยู่ในใจจนถึงทุกวันนี้
‘ปิดเทอมสร้างสรรค์’ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงกิจกรรม แหล่งเรียนรู้ และพื้นที่สร้างสรรค์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
นอกจากเด็กและเยาวชนแล้ว โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ยังได้รวบรวมพื้นที่ที่มีกิจกรรมดี ๆ ที่วัยทำงานสามารถเข้าร่วมได้ ทีมเว็บไซต์ สสส. ขอชวนมาเยี่ยมชมพื้นที่สร้างสรรค์ และร่วมกันทำกิจกรรมในวันหยุดไป เพื่อตามหาฝัน ค้นหาตัวตน แบ่งปันสังคม สนุก ฝึกฝน เปิดโลกเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยสามารถค้นหาพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ได้ที่ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com
'เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด'