ปิดเทอมใหญ่อย่าให้เด็กจมน้ำตาย

ที่มา : เดลินิวส์


ปิดเทอมใหญ่อย่าให้เด็กจมน้ำตาย thaihealth


กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ในรอบ 10 ปี พบว่าเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึงปีละ 904 คน หรือวันละ 2.5 คน ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุดทุกปี เดือนมีนาคมพฤษภาคมปีที่ผ่านมามีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 231 คน คิดเป็นร้อยละ 34 ของเด็กจมน้ำเสียชีวิตทั้งปี


ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เกือบ ครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์เด็กจมน้ำเสียชีวิตพบว่าชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ ไม่รู้วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้อง แหล่งน้ำที่เด็กจมน้ำมากที่สุด คือแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้ให้ทุกจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ลงร้อยละ 50 ในปี 2564 หรือเสียชีวิตไม่เกิน 360 คน


กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการ "บ้าน เริ่ม ชุมชนร่วม ป้องกันเด็กจมน้ำ" ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เพื่อให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก และชุมชนตระหนักถึงโอกาสเสี่ยง วิธีป้องกันการจมน้ำ สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และแนะนำวิธีการช่วยคนจมน้ำ โดยใช้มาตรการ "ตะโกน โยน ยื่น" ตะโกนให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวให้คนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว และยื่นอุปกรณ์ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นจากน้ำ พร้อมเน้นย้ำห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่าหรือกระแทกเอาน้ำออก เนื่องจากเป็นวิธีการช่วยเหลือที่ผิด


ปัญหาที่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่กลาย เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 1 จนกระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งรณรงค์อย่างจริงจัง น่าจะช่วยกระตุ้นเตือนให้ทุก ๆ คน โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกหลานระดับชั้น ม.3 ลงไป ต้องระวังให้มากขึ้น แม้เราจะเชื่อมั่นว่าลูกเราว่ายน้ำเป็น แต่เด็กที่เสียชีวิตจำนวนมาก ก็เพราะเข้าไปช่วยเพื่อนแล้วโดนดึงจมน้ำไปด้วย กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำวิธีการช่วยเหลือ "ตะโกน โยน ยื่น" แทนที่จะเข้าไปช่วยเอง เพราะทักษะการว่ายน้ำ หรือการเอาตัวรอดในน้ำของเด็กยังไม่เพียงพอที่จะช่วยใครได้.

Shares:
QR Code :
QR Code