ปิดเทอมหรรษา พาลูกสร้างสุข
ปิดเทอมใหญ่นี้ เด็กๆ หลายคนคงจะสนุกหรรษา เพราะว่างจากการเรียนที่โรงเรียนตั้ง 2 เดือนกว่า การเข้าค่ายเพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ เป็นสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องการให้บุตรหลานร่วมประสบการณ์และเพิ่มทักษะชีวิต เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และลดโอกาสที่จะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากมาย อาทิ เด็กติดเกม โรคอ้วน เนื่องจากเด็กขาดการออกกำลังกาย หรืออาจมีเคราะห์เกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต อย่างเช่น การจมน้ำตามห้วย หนอง คลอง บึง และแม่น้ำต่างๆ ที่กลายเป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจให้สังคมเวลานี้
ด้วยเหตุนี้ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคีสำคัญของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้จัดโครงการค่าย “ปิดเทอมหรรษา พาลูกสร้างสุข” (เด็กที่เข้าร่วมโครงการอายุระหว่าง 7-13 ปี) ระหว่างวันอังคารที่ 6-วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2557 ณ ห้องเจริญสามัคคี อาคารปัญญาวัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) เพื่อสนับสนุนให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจและสามารถฝึกประสบการณ์ให้เด็กๆ มีมากมาย อาทิ กิจกรรมเติมฝัน ปั้นสุข หมากล้อม ศิลปะแห่งความสุข กิจกรรมเล่นแบบไทยๆ หัวใจมีสุข เติมพลังใจ ให้ร่างกายมีสุข กิจกรรมกระเป๋าผ้า แต้มสีสัน บันดาลสุข โดยเด็กๆ จะได้ผลงานกลับบ้านเป็นที่ระลึก และสร้างความภูมิใจคือวุฒิบัตรผ่านการอบรม กระเป๋าผ้าและวัสดุอุปกรณ์ ชิ้นงานจากกิจกรรม “เติมฝันปั้นสุข” กระเป๋าผ้าจากกิจกรรม “กระเป๋าผ้าแต้มสุข”
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หากเด็กไม่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์จะเกิดผลร้ายแก่ตัวเขา เช่น ปิดเทอม 1 ครั้ง เด็กน้ำหนักตัวขึ้น 3-4 กิโลกรัม เพราะเด็ก 70-80% ใช้เวลาดูทีวี เล่นเกม กินอาหารไม่เป็นประโยชน์ และมักจะเกิดกับเด็กในเขตเมือง เนื่องจากไม่ทำกิจกรรม ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งอ้วน สายตาสั้นเทียม ฟันผุ ลดทอนพัฒนาการ และการติดเกม นำไปสู่ความก้าวร้าว
ดังนั้นพ่อแม่ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก สลับสับเปลี่ยนกันทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อาทิ พาไปเรียนดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง ศิลปะ วาดภาพ สร้างงานศิลปะ สร้างปัญญา เช่น เที่ยวพิพิธภัณฑ์ เกมที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ สร้างจิตวิญญาณ เช่น การเที่ยววัด ให้เด็กได้เป็นมัคคุเทศก์น้อยในชุมชน สร้างพลังกาย เพิ่มการออกกำลังกาย ผจญภัย ท่องเที่ยว และสุดท้ายสนับสนุนให้ทำสิ่งที่ชอบ โดยกิจกรรมเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะได้ทุกวัย
นพ.สุริยเดว กล่าวต่อว่า การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอม นอกจากครอบครัวแล้ว ชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมได้ รวมถึงคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด ต้องช่วยกันสร้างเสริม พัฒนา ป้องกันเด็กไปพร้อมๆ กัน เพราะจะช่วยลดความเสี่ยง ทั้งอุบัติเหตุ ยาเสพติด การทะเลาะวิวาท การติดเกมได้ ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่จัดกิจกรรมวันเด็กอาจพิจารณาขยายกิจกรรม ไม่ทำเพื่อเด็กวันเดียว คือต้องขยายกิจกรรมเพื่อเด็กจาก 1 วัน สลับสับเปลี่ยนกันทำทั้งช่วงปิดเทอมแทน จะได้ประโยชน์อย่างมาก
สำหรับวัยรุ่นช่วงอายุ 15 ขึ้นไปจะมีปัญหาไปอีกแบบ โดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเอาไว้ว่า สำหรับกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ของวัยรุ่นกลุ่มนี้ คือเล่นเกมอินเทอร์เน็ต ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูภาพโป๊เปลือย ดูวิดีโอหนังโป๊ มีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือคู่รัก ไปดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ และคิดจะทำลายข้าวของและทำร้ายตัวเอง ผลที่ตามมาคือสิ้นเปลืองเงินทอง ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้อ้วน มีปัญหาต่อสายตา ฟันผุ ลดทอนพัฒนาการ และอาจนำไปสู่ความก้าวร้าวในครอบครัวและส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวย้ำว่า พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวต้องหันมาให้ความสำคัญกับลูกหลานวัยรุ่นมากขึ้น อาทิ ลองหากิจกรรมที่หลากหลายและมีคุณค่าทำร่วมกับลูกๆ เช่น การทำงานบ้านร่วมกัน กวาดบ้าน ถูบ้าน เก็บข้าวของที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อให้เขาได้ซึมซับเรื่องราวความมีระเบียบ ความสะอาดภายในบ้านเข้าไปสู่ตัวตนของเขา การทำงานบ้านจะส่งผลให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงการอยู่ในสังคม ทำให้เขาเกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เกิดความคิด จินตนาการและมีอิสระจากการได้ลงมือทำจริงๆ ในระหว่างทำงานบ้านร่วมกัน พ่อแม่จะได้มีโอกาสสอนและอบรมบ่มเพาะในเรื่องดีๆ ให้แก่ลูกด้วย
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือกิจกรรมจิตอาสาบ้าง เช่น การปลูกป่า เก็บขยะตามคลองหรือชายทะเล ไปอ่านหนังสือให้กับน้องเล็กที่ป่วยในโรงพยาบาล ไปดูแลน้องๆ ที่บ้านเด็กอ่อน หรือเข้าวัดปฏิบัติธรรม ทำความสะอาดเก็บกวาดวัด ฯลฯ เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เด็กวัยรุ่นได้ใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์และสร้างสรรค์
ส่งผลดีต่อการพัฒนาจิตใจรู้จักการเป็นผู้ให้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่การบริจาคเงินหรือสิ่งของ แต่เป็นการบริจาคแรงกาย แรงใจ หลังจากที่ได้ทำก็จะรู้สึกว่าตนเองมีความสุขและมีคุณค่ามากขึ้น หรือไม่ก็อาจส่งเสริมให้เด็กใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมไปทำงานพิเศษที่เหมาะสม เพื่อเก็บออมเงินไว้ซื้อของที่อยากได้ในช่วงเปิดเทอมใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน
“กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นกับลูกในช่วงปิดเทอมนี้ พ่อแม่ต้องคำนึงในหลายๆ ด้าน ควรเหมาะสมกับลูก ตามสภาวะเศรษฐกิจ หรือความสามารถในการใช้จ่าย ควรเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือก เพราะจะยิ่งช่วยให้เขามีความสุขและสนใจจะเรียนรู้ เพื่อให้ตนเองได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ในโรงเรียนไม่มี ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังสอดส่องกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ด้วย เพราะถ้าบ้านไหนไม่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ แนวโน้มที่ลูกจะใช้เวลาว่างอย่างไม่สร้างสรรค์ย่อมมีได้สูง ช่วงปิดเทอมพ่อแม่ควรให้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกๆ บ้าง เพราะจะเป็นการเพิ่มความหวัง ความสุขให้ลูก เพื่อป้องกันไม่ให้เขาไปแสวงหาความสุขในช่องทางที่ไม่เหมาะสม ที่สำคัญคือช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตระบุ
รู้ข้อดีของการทำกิจรรมในช่วงปิดเทอมอย่างนี้แล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองอย่ารอช้า ไปหากิจกรรรมสร้างสรรค์ให้ลูกกันเพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาและสังคมต่อไป ทั้งนี้ ผู้ปกครองที่สนใจกิจกรรมนี้สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2441-0602-8 ต่อ 1407.
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์