ปิดเทอมสร้างสรรค์ ชวนอ่านสร้างสุข

 

ปิดเทอมสร้างสรรค์ ชวนอ่านสร้างสุข

 

“โตขึ้นผมอยากเป็นตำรวจ” เป็นคำพูดของ “น้องเสือ” วัย 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม และเป็นเหตุที่มีแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือที่ได้รับการกระตุ้นจากคุณพ่อคุณแม่ที่มีมาตั้งแต่เด็ก

หนังสือที่น้องเสืออ่านแล้วประทับใจจนเป็นแรงบันดาลใจอยากเป็นตำรวจคือ เรื่องพันท้ายนรสิงห์ และสมเด็จพระนเรศวร เพราะทั้งสองเรื่องให้ประโยชน์จากการอ่านคือ เรื่องของการรักษาความถูกต้อง การรักษากฎระเบียบ วินัย ความสามัคคี ความกตัญญู โดยเฉพาะเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ที่ประทับใจคือ พันท้ายนรสิงห์ขอให้สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ประหารชีวิตตนเอง เพื่อให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล เหตุเพราะทำให้หัวเรือไปชนกับต้นไม้ และถึงแม้สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 จะให้ปั้นหุ่นขึ้นมาและประหารหุ่นแทน พันท้ายนรสิงห์ไม่ประสงค์เช่นนั้นเพราะขัดกับกฎมณเฑียรบาล

น้องเสือเล่าว่า “แรกๆ ที่อ่านหนังสือเพราะแม่บังคับ อ่านมาตั้งแต่เด็ก เพราะแม่ชอบพาไปห้องสมุดแถวถนนราชวิถีใกล้ที่ทำงานแม่ บางครั้งนั่งอ่านครึ่งวันเลยทีเดียว อ่านมาตั้งแต่อยู่ ป.2 ตอนนี้ก็ ป.6 แล้ว และตอนนี้ก็ยังชอบอ่านอยู่”

น้องเสือเป็นหนึ่งในเด็กๆ 50 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรม “ปั่นปันปัญญา ตอน ปิดเทอมสร้างสรรค์ ชวนอ่านสร้างสุข” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยผู้ใหญ่ใจดี ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชมรมจักรยานปั่นปันปัญญา บริษัท แอล เอ ไบค์ซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้

หนึ่งในผู้ใหญ่ใจดีคือ สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนสร้างเสริมการอ่าน สสส. เล่าถึงที่มาของกิจกรรมในครั้งนี้ว่า กิจกรรมฯ มีจุดเริ่มจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2555 โดยแผนสร้างเสริมการอ่านฯ เห็นว่าเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้หนังสือในบ้าน ในห้องสมุดเสียหายมาก จึงต้องการนำหนังสือจากคนที่บ้านน้ำไม่ท่วมไปให้คนที่บ้านน้ำท่วม โดยร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและกลุ่มจักรยานปั่นปันปัญญา และทำมาอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรม “ปั่นปันปัญญา ตอน ปิดเทอมสร้างสรรค์ ชวนอ่านสร้างสุข” เป็นกิจกรรมหนึ่งของแผนสร้างเสริมการอ่าน สสส. ที่ทุกฝ่ายต้องการให้ช่วงเวลาการปิดเทอมของเด็กมีสีสัน เกิดประโยชน์มากที่สุด อยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็กเห็นประโยชน์ตรงนี้ อยากให้เด็กได้เติมปัญญา เติมความรู้ ได้รับความสนุกจากการอ่าน เปิดโลกทัศน์ เกิดแรงบันดาลใจจากการอ่าน จึงขอเชิญชวน พ่อแม่ ผู้ปกครอง พาบุตรหลานมาเรียนรู้และอ่านหนังสือในช่วงปิดเทอม

ปราณี สัตยประกอบ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีห้องสมุดรวมจำนวน 35 แห่ง โดยมีห้องสมุดที่เป็นมิติใหม่จำนวน 12 แห่ง และกำลังทยอยปรับปรุงที่เหลืออย่างต่อเนื่อง ห้องสมุดที่เป็นมิติใหม่นี้มีลักษณะเป็นห้องสมุดที่ให้ทั้งความรู้ ความสนุกสนานคู่กันไป เป็นห้องสมุดที่มีรูปลักษณ์ทันสมัย มีเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ทันสมัยครบวงจร มีบรรยากาศผ่อนคลาย สภาพแวดล้อมสดชื่นและสวยงาม

ห้องสมุดมิติใหม่ทั้ง 12 แห่งนี้ จะมีอาคาร 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นชั้นสำหรับเด็ก เหมาะกับน้องๆ หนูๆ วัย 0-6 ปี มีสื่อการเรียนรู้ที่เพิ่มทักษะและพัฒนาการด้านต่างๆ มีหนังสือสำหรับเด็กเล็ก ชั้น 2 มีมุมหนังสือพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี หนังสือความรู้ทั่วไป หนังสือวิชาการ เรื่องสั้น ชั้น 3 มีมินิเธียเตอร์ คอมพิวเตอร์ wireless lan hi-speed internet และมีหนังสือเกี่ยวกับครอบครัว สุขภาพ เป็นต้น

รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายที่จะสร้างห้องสมุดให้มีอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละแห่ง เช่น ห้องสมุดการ์ตูน ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุดบุคคลสำคัญ ห้องสมุดนิทาน เพื่อให้เด็กๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองสนใจการอ่านมากขึ้น เกิดปัญญา มีความคิดดีๆ ที่ได้จากการอ่าน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือ อย่างน้อยให้คนไทยอ่านหนังสือปีละ 15 เล่ม ตามแนวคิด “กรุงเทพฯ มหานครแห่งการอ่าน เมืองหนังสือโลก ปี 2556” (world book capital 2013)

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code