ปิดเทอมนี้มา “เฮลท์ตี้” กันเถอะ

เรื่องโดย : พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก : หนังสืออยากสุขภาพดีต้องมี 3อ. สำหรับวัยรุ่น โดย มูลนิธิหมอชาวบ้าน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ปิดเทอมนี้มา “เฮลท์ตี้” กันเถอะ  thaihealth


แฟ้มภาพ


ปิดเทอมทั้งที เด็กไทยวัยรุ่น วัยใส คงมีเวลาว่างสำหรับพักผ่อนกายใจกันอย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่ใช้ช่วงเวลานี้เดินทางท่องเที่ยว หลายๆ คนก็อาจเพลิดเพลินไปกับการอ่านหนังสือ เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกม ดูโทรทัศน์  หรือทำกิจกรรมอื่นๆ จนเลยเวลาพักผ่อน  ส่งผลให้นอนดึกตื่นสาย กินอาหารไม่ตรงเวลา และไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน อาจเกิดปัญหาสุขภาพก็ตามมา


แน่นอนว่า วัยรุ่น (9 ปี – 18 ปี) เป็นช่วงวัยสำคัญที่ร่างกายควรได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญา แต่ปัจจุบันนี้กลับพบว่า วัยรุ่นไทยมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคไตมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการกินอาหารที่มีไขมันสูง มีรสเค็ม อาหารจานด่วน หรืออาหารแช่แข็ง


นอกจากนี้ช่วงปิดเทอมเด็กๆ มักใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนั่งหรือนอนอ่านหนังสือนิ่งๆ เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกม ดูโทรทัศน์ นอนดึกตื่นสาย กินอาหารไม่ตรงเวลา ไม่ได้ออกกำลังกาย จนเป็นสาเหตุของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในอนาคตได้ด้วย ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ถูกหลักโภชนาการจึงเป็นเรื่องที่เด็กไทยและผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญอย่างมาก


ปิดเทอมนี้มา “เฮลท์ตี้” กันเถอะ  thaihealth


“วัยรุ่นสุขภาพดีได้ด้วย โภชนบัญญัติ 9 ประการ”


หลักการกินอาหารที่เรียกกันว่า โภชนบัญญัติ 9 ประการ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวัยรุ่นได้ เรียกว่า 4 อย่า 5 อยาก ได้ดังนี้


1. อยาก ให้กินอาหารครบ 5 หมู่ หลากหลายไม่ซ้ำซากและดูแลน้ำหนักตัวสม่ำเสมอ


2. อยาก ให้กินข้าวเป็นหลัก อาจสลับกับแป้งบ้าง


3. อยาก ให้กินพืชผักและผลไม้ให้มาก เน้นกินผัก 5 สี เพื่อได้รับใยอาหารและสารไฟโทเอสโทรเจนอย่างเพียงพอ


4. อยาก ให้กินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้ง เน้นกินปลาและเนื้อแดง


5. อยาก ให้ดื่มนมที่เหมาะสมกับวัยเน้นการดื่มนมรสธรรมชาติ(รสจืด) และนมขาดมันเนยสำหรับวัยรุ่นที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก


ปิดเทอมนี้มา “เฮลท์ตี้” กันเถอะ  thaihealth


6. อย่า กินอาหารที่มีไขมันสูง เน้นการประกอบอาหารแบบไม่ซ้ำทั้ง ต้ม นึ่ง ลวก อบ และควรใช้น้ำมันน้อย ที่สำคัญต้องลดการกินขนมอบที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เช่น โดนัท แครกเกอร์ คุกกี้ พาย และขนมอบ ที่ใช้มาการีนประกอบ


7. อย่า กินอาหารรสจัด เน้นกินอาหารรสจืดและควรชิมก่อนเติม ลดเครื่องดื่มลดหวาน


8. อย่า กินอาหารที่ปนเปื้อน เน้นกินอาหารสุกใหม่


9. อย่า ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เน้นดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว


นอกจากปฏิบัติตัวตามหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการนี้ การออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที อาทิตย์ละ 3 วัน และควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง และอย่าลืมว่า “ควรลดเวลานั่ง เพิ่มเวลายืน ยืดเวลาเดิน เพลินเวลาออกกำลัง” เพราะการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) เมื่อโตขึ้นได้

Shares:
QR Code :
QR Code