ปิดเทอมชวนเด็ก “ออกมาเล่น” หนุนสุขภาวะดี

ที่มา : ไทยโพสต์

ภาพโดย สสส.


ปิดเทอมชวนเด็ก


ในช่วงปิดเทอมมีผลวิจัยออกมาว่ากิจกรรมที่เด็กเยาวชนตั้งใจจะทำในวันหยุดมากที่สุดคือเล่นมือถือ เล่นอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีการเคลื่อนไหวทางกายน้อย ต่างจากการออกมาเล่นสนุกร่วมกับเพื่อนๆ บวกกับวิธีกินตามใจปาก ไม่คุมปริมาณอาหารทำให้เด็กๆ น้ำหนักเพิ่ม หุ่นอ้วนลงพุงช่วงหยุดยาวปิดเทอม


งานวิจัยสอดคล้องกับผลสำรวจภาวะอ้วนในเครือข่ายโรงเรียนภาครัฐสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 5 โรงเรียนในปี 2561 พบว่าเด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนถึง 16% และในโรงเรียนเอกชนประถมอ้วน 19% และมัธยมอ้วน 34% สถิติสูงกว่าเด็กอ้วนทั้งประเทศเกือบ 3 เท่า ซึ่งเด็กๆ จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในช่วงปิดเทอม ปัญหานี้ต้องสร้างการรับรู้แก่เด็กๆ และผู้ปกครองด้วยการให้ความรู้และชักชวนทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เหมาะสมกับวัย


ปิดเทอมชวนเด็ก


ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พลิกโอกาสวันว่างปิดเทอมให้เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้สุขภาวะจัดกิจกรรมค่ายสร้างเสริมสุขภาวะ 'มาเล่นกันเถอะ' ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะเมื่อวันก่อน เพื่อเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการต่อร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ที่เหมาะสมแก่เยาวชนอายุ 7-12 ปี โดยแบ่งกิจกรรม 3 วัน รูปแบบแตกต่างกัน ได้แก่ วันที่ 1 รู้จักและเข้าใจ Active Play วันที่ 2 แนวทางการเล่นอย่างสร้างสรรค์ และวันที่ 3 สร้างสรรค์การเล่นร่วมกันได้ด้วยตนเอง


ปิดเทอมชวนเด็ก


นายฤทธิจักร คะชา ผู้ดูแลโครงการค่ายสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับเยาวชน 'ค่ายมาเล่นกันเถอะ' บอกว่า กิจกรรมแต่ละวัน สสส.ได้ศึกษาเนื้อหาและสร้างสรรค์กิจกรรมขึ้นเพื่อให้เด็กที่เข้าร่วมค่ายได้ทำกิจกรรมที่ได้ประโยชน์มากกว่าการเล่นสนุก แต่เป็นการปลูกฝังสุขภาวะที่ดีแก่เยาวชน ซึ่งผลการวิจัยชี้ว่าหากให้เด็กออกมาเล่นติดต่อกันวันละ 60 นาที ต่อเนื่องเป็นเวลา 3-4 เดือน จะทำให้ระดับของสติปัญญาพัฒนาขึ้นอีกด้วย


"วันแรก เด็กๆ ได้รู้จักร่างกายตนเองด้วยกิจกรรมทางกาย 3 ระดับตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ได้แก่ เบา กลาง และหนัก เรียนรู้การแบ่งเวลาเล่นที่เหมาะกับวัยด้วยเทคนิคที่เรียกว่า 10, 20, 30 แบ่งเวลาเล่นตอนเช้า 10 นาที ระหว่างวัน 20 นาที และตอนเย็น 30 นาที ส่วนวันที่สอง เป็นเกมเข้าฐานทดสอบสมรรถภาพร่างกายและฝึกมนุษย์สัมพันธ์ด้วยกิจกรรมกลุ่ม วันที่สาม เป็นกิจกรรมกีฬาสีทำให้เด็กมีทักษะการแบ่งปันและการอยู่ร่วมกันในสังคม เราคาดหวังให้เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เมื่อกลับไปแล้วสามารถนำของที่อยู่ในบ้านมาทำเป็นของเล่น ชวนเพื่อนเข้ามาร่วมเล่น ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กสุขภาพดี" ฤทธิจักรกล่าว


ปิดเทอมชวนเด็ก


นายเตชิต เลิศอเนกวัฒนา นักวิทยาศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมข้อมูลว่า การส่งเสริมให้เด็กมีมาตรฐานสุขภาพทางกายที่ดีต้องเสริมกิจกรรมที่พวกเขายังขาด จะช่วยเติมเต็มกิจกรรมทางกายที่บกพร่องได้ถูกทาง ซึ่งมาตรฐานสุขภาพทางกายที่ดีของเด็กประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ แข็งทนอึดยืดเฟิร์ม คำว่า แข็ง สื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงออกแรงได้เยอะ, ทน กล้ามเนื้อสามารถทนการออกแรงซ้ำๆ ได้, อึด หมายถึงความเหนื่อยจากกิจกรรมที่น้อย, ยืด สื่อกล้ามเนื้อข้อต่อมีความยืดหยุ่นตัว ไม่บาดเจ็บง่าย และ เฟิร์ม หมายถึงสัดส่วนของไขมันกล้ามเนื้ออยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน


"เด็กจะออกมาเล่นได้มากขึ้นต้องส่งเสริมให้ได้เจอเพื่อนให้เยอะที่สุด มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน และการแข่งขัน เพราะคนที่จะชวนให้เด็กออกมาเล่นได้ดีที่สุดไม่ใช่ผู้ใหญ่แต่เป็นเพื่อนในวัยเดียวกัน" เตชิตกล่าว


ปิดเทอมชวนเด็ก


ในมุมมองของนางนงค์นุช คล้ายทองดี คุณแม่ของน้องอาเรย์ เยาวชนผู้ร่วมค่าย เล่าให้ฟังว่า การร่วมกิจกรรมค่ายมาเล่นกันเถอะ ทำให้เด็กได้ออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ ลดความเครียดที่มีในตัว กิจกรรมครั้งนี้ลูกขอให้พามาเพราะอยากทำกิจกรรม อยากเจอเพื่อนใหม่ๆ นอกจากว่ายน้ำและเล่นดนตรีในวันหยุดในช่วงปิดเทอมเป็นอีกหนึ่งการบ้านที่คุณแม่ต้องหากิจกรรมให้ลูกทำโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ตอบโจทย์นี้


ปิดเทอมชวนเด็ก


กิจกรรมค่ายมาเล่นกันเถอะ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กออกมาเล่นอย่างสร้างสรรค์ ได้ฝึกทักษะต่างๆ รวมถึงเรียนรู้การเข้าสังคมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ในวันหยุด เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนได้ค้นหาตัวตน และใช้เวลาในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ โดยสามารถค้นหากิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ได้ที่ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com

Shares:
QR Code :
QR Code