ปั้นเกษตรกรต้นแบบชุมชน สู้ภัยโควิด-19

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์


ปั้นเกษตรกรต้นแบบชุมชน สู้ภัยโควิด-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำ “โครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิตสู้โควิด-19” ถ่ายทอดความรู้การปลูกพืชผักและสมุนไพร โดยมีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) หวังปั้นเกษตรกรต้นแบบในระดับชุมชน


นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรและทำให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรของเกษตรกรทุกระดับ กรมจึงจัดทำ “โครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิตสู้โควิด-19” เพื่อบรรเทาผลกระทบสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ


พร้อมให้เกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบมีพืชอาหารบริโภค สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สร้างความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนแก้ปัญหาการขาดแคลนพันธุ์พืชพันธุ์ดีในท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อดำเนินการตามระบบส่งเสริมการเกษตรผ่าน อกม.เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้ตัวแทนเกษตรกรในชุมชน


โดยโครงการฯ นี้ ได้ผลิตต้นพันธุ์พืชผักและสมุนไพร 7 ชนิด รวม 3,634,464 ต้น พืชผักและสมุนไพรหลัก 4 ชนิด เป็นพืชที่เป็นที่นิยมบริโภคและผลิตจากเมล็ดได้ง่ายมีจำนวนมาก รวม 2,271,540 ต้น ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร มะละกอ พริก และมะเขือ และพืชผักและสมุนไพรเสริม จำนวน 3 ชนิด รวม 1,362,924 ต้น ได้แก่ มะรุม ผักหวานบ้าน และแคบ้าน


อาสาสมัครเกษตรกรหมู่บ้าน (อกม.) จะเป็นผู้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมาจากเกษตรกรแต่ละหมู่บ้าน เป็นตัวแทนผู้ถ่ายทอดความรู้ให้คนในชุมชน โดยต้องมีคุณสมบัติ 1. สนใจและสมัครใจ 2. มีพื้นที่และแหล่งน้ำเพียงพอปลูกพืชผักและสมุนไพร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการ 7 ชนิด รวม 16 ต้น/ครัวเรือน


3. ให้คำแนะนำวิธีปลูกดูแลและขยายพันธุ์พืชผักสมุนไพรดังกล่าว ให้เกษตรกรรายอื่นเพื่อขยายผลได้ 5. สำนักงานเกษตรอำเภอ ส่งมอบต้นพันธุ์พืชที่พร้อมปลูกให้ อกม. เพื่อแจกต้นพันธุ์พืชผักสมุนไพรสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ดังกล่าว 3 ครัวเรือน/หมู่บ้าน


6. สำนักงานเกษตรอำเภอจัดทำจุดเรียนรู้ การปลูกพืชผักและสมุนไพรในครัวเรือนเพื่อเป็นต้นแบบ บริเวณสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสถานที่ที่มีความเหมาะสมอำเภอละ 1 จุด โดยจัดทำจุดเรียนรู้ต้นแบบ “การปลูกพืชผักและสมุนไพรในครัวเรือน” เป็นจุดเรียนรู้ใหม่หรือบูรณาการ ร่วมกับจุดเรียนรู้ที่มีอยู่เดิม


ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสะดวกในการขยายผลสู่เกษตรกร หรือผู้สนใจ เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง ความสะดวกในการเดินทาง และมองเห็นง่าย โดยเน้นปลูกพืชผักอายุสั้นร่วมกับพืชผักและสมุนไพรที่ได้รับสนับสนุน จากโครงการฯ เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชผักและสมุนไพร สำหรับบริโภคในครัวเรือนและผลผลิตเหลือแบ่งปัน ให้ชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง


ร่วมกับการบริหารจัดการการใช้น้ำอย่างประหยัด เช่น ใช้น้ำมือสอง จากการอุปโภคบริโภค ให้น้ำแบบระบบน้ำหยดหรือมินิสปริงเกอร์ เพื่อเป็นต้นแบบบริเวณสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสถานที่เหมาะสมอำเภอละ 1 จุด ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็น “ศูนย์พันธุ์พืชชุมชน” พร้อมมีผู้นำเกษตรกรชุมชนในอนาคต เพื่อใช้เป็นต้นแบบศึกษาเรียนรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่

Shares:
QR Code :
QR Code