ปั่นปันปัญญา ตะลุย “ปิดเทอมสร้างสรรค์ ชวนอ่านสร้างสุข”

 

ปั่นปันปัญญา ตะลุย “ปิดเทอมสร้างสรรค์ ชวนอ่านสร้างสุข”

“ช่วงปิดเทอม” พ่อแม่ส่วนใหญ่มักปล่อยเวลาว่างของเด็กๆ ให้หมดไปกับการนั่งดูทีวี เล่นเกม หรือออกไปเล่นกับเพื่อน โดยหารู้ไม่ว่าช่วงเวลานี้แหละที่เป็นช่วงที่เด็กจะสามารถเติมเต็มสิ่งที่จะพัฒนาสมอง และต่อยอดการเรียนรู้ที่ต่างไปจากห้องเรียนได้เป็นอย่างดี

เมื่อครอบครัวส่วนใหญ่มองข้ามช่วงเวลาสำคัญ แผนงานสร้างเสริมนวัตกรรมการอ่านจึงร่วมกับกรุงเทพฯ มหานครแห่งการอ่าน เมืองหนังสือโลก ปี 2556 (World Book Capital 2013), ชมรมจักรยาน, บริษัท แอล เอ ไบค์ซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด, พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ และบริษัท ไวตามิลค์ จำกัด จัดกิจกรรม “ปั่นปันปัญญา ตอน ปิดเทอมสร้างสรรค์ ชวนอ่านสร้างสุข” ให้เด็กๆ ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอม ค้นหาแรงบันดาลใจไปกับ 3 ห้องสมุดของกรุงเทพมหานคร

โดยนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน บอกว่า ช่วงปิดเทอมถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ที่พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้เวลาของลูกหายไปกับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ควรใช้เวลาว่างร่วมกันให้มากขึ้นโดยเฉพาะวันเสาร์ วันอาทิตย์ เพื่อเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ให้กับลูก ให้เขาได้เห็นว่ายังมีเรื่องดีๆ อีกมากมายที่เป็นประโยชน์ ซึ่งโครงการนี้ฯ จะเป็นการกระตุ้นและสร้างโอกาสให้เด็ก เยาวชนได้มีพัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่านการอ่านและกิจกรรมดีๆ ที่จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้ใช้พลังในทางที่สร้างสรรค์ เพราะการอ่านจะแตกต่างจากสื่ออื่น เด็กที่อ่านหนังสือจะรู้จักคิดวิเคราะห์ มีจินตนาการมากกว่าเด็กทั่วไป ช่วงเวลาปิดเทอมจึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่พ่อแม่ควรคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตให้แก่ลูก

“หลายคนมักมองว่าการอ่านเชย อ่านแล้วถูกมองว่าการเป็นหนอนหนังสือไม่ทันสมัย นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การอ่านของเด็กในปัจจุบันลดน้อยลง เห็นได้จากการสำรวจเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2554 เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือเพียงร้อยละ 53.5 โดยเด็กผู้หญิงมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อย คือร้อยละ 54.3และร้อยละ 52.7 ตามลำดับ นอกจากนี้อัตราการอ่านหนังสือของเด็กเล็กในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่านอกเขตเทศบาล โดยเด็กเล็กในกรุงเทพมหานครมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด ร้อยละ 63.0 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด ที่ร้อยละ 49.1 ซึ่งตัวเลขนี้ก็ถือว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจถึงแม้จะเพิ่มขึ้นมาจากเดิมเล็กน้อย” นางสุดใจกล่าว

และผู้จัดการแผนฯ ยังบอกต่อว่า เราจะดำเนินโครงการนี้ตลอดทั้งปิดเทอม กับห้องสมุดทั้ง 3 แห่งของกทม. โดยแต่ละที่ จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน ในทริปแรก คือ วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2555 เส้นทางชมพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ และร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต ทริปที่สอง วันอาทิตย์ที่  14 ตุลาคม 2555 เป็นการค้นหาแรงบันดาลใจในการอ่านกับห้องสมุดสวนลุมพินี พระราม 4 และกิจกรรมแรลลี่การอ่าน และทริปสุดท้าย วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2555 สัมผัสธรรมชาติพื้นที่ป่าชายเลน ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติผ่านการอ่าน ณ โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ โดยทุกทริปเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมจะต้องนำหนังสือเล่มโปรดมาด้วย เพื่อไปแบ่งบันกับเด็กที่ด้อยโอกาสด้วยในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ในแต่ละทริปจะมีนักปั่นจักยานมืออาชีพ มาร่วมให้ความรู้ในการปั่นจักรยานและปั่นควบคู่ไปกับเด็กตลอดทั้งเส้นทางเพื่อความปลอดภัย โดยเปิดรับน้องๆ ที่สนใจตั้งแต่อายุ 8 -15 ปี สามารถเข้าไปสมัครได้ที่ http://www.happyreading.in.th

“สุดท้ายก็หวังว่าโครงการปั่น ปันปัญญานี้จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม พ่อแม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่านและห้องสมุดมากขึ้น เพราะเมื่อเด็กได้เข้าไปสัมผัสเด็กจะมีความสุขด้วยตัวเอง และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการชอบอ่านของเด็กในระยะยาวได้ อีกทั้งห้องสมุดเองก็จะเกิดการตื่นตัวในการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ทันสมัย จะตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ หากอยากให้กทม.เป็นเมืองแห่งการอ่านโดยสมบูรณ์ เราต้องลุกขึ้นมาทำให้กิจกรรมการอ่านเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากขึ้น เราอยากให้การอ่านไปอยู่ในชีวิต อยู่ที่ไหนก็สามารถอ่านและมีความสุขได้ ทำได้ง่ายๆใกล้ตัว” ผู้จัดการแผนฯ กล่าว

เมื่อการอ่านสามารถเปิดโลกการเรียนรู้ของทุกคนให้กว้างขึ้นได้ ดังนั้นการทำให้เด็กและเยาวชนรักการอ่านตั้งแต่เริ่มแรกของการเรียนรู้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี และถ้าเราสามารถแบ่งปันสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้กับผู้อื่นได้อีก ก็เชื่อว่าอนาคตเด็กไทย จะมีสถิติการอ่านที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน มารวมปั่นปันปัญหาด้วยกันนะคะ

 

 

เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code