"ปั่นปันข้าว"…ทางก้าวสู่ความสุข
"วันนี้นอกจากจะได้มาพบปะประชาชนและชาวนาแล้ว ยังตื้นตันใจที่เห็นคนรักการออกกำลังกายมากขึ้นด้วย ซึ่งรัฐบาลจะพยายามผลักดันโครงการเกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ปั่นจักรยานให้มีทั่วประเทศ เพราะฝันอยากเห็นเมืองไทยเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องการปั่นจักรยานด้วย"
คำกล่าวไม่ยาวนักแต่เรียกรอยยิ้มให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้ของศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์รองนายกรัฐมนตรีประธานเปิดงาน"ปั่นปันข้าว"
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย กลุ่มบิ๊กทรี กลุ่มบางกอกไบซิเคิลแคมเปญ จัดงาน "ปั่น ปันข้าว" ณ สนามเขียว สุวรรณภูมิ โดยผู้เข้าร่วมปั่นจักรยานจะเลือกชนิดข้าวจากกลุ่มชาวนาที่เข้าร่วมกิจกรรม และเลือกองค์กรการกุศลที่ต้องการบริจาคให้ เพื่อแบ่งปันความรักจากคนรักสุขภาพ สู่กลุ่มชาวนา และองค์กรสาธารณกุศลซึ่งดูแลผู้ด้อยโอกาส
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทั้งการแบ่งปันความรักและสุขภาพดี จึงชวนคนรักการออกกำลังกายและกลุ่มชาวนาออแกนิกส์ มาปั่นจักรยานออกกำลังกาย เพื่อบริจาคข้าวให้แก่องค์กรการกุศล
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในโอกาสเดียวกันนี้ว่า สสส.ได้ร่วมกับภาคีหลายองค์กร จัดโครงการ "ปั่นปัน ข้าว" ขึ้น เพื่อชวนให้ประชาชนมอบความรัก ความเอื้ออาทร และการแบ่งปันกับกลุ่มคนต่างๆ ทั้งเกษตรกร และองค์กรการกุศล โดยผู้เข้าร่วมสามารถบริจาคเป็นเงินจำนวน 250 บาท หลังจากปั่นจักรยานครบ 1 รอบสนามเขียวด้วยระยะทาง 23.5 กิโลเมตร จะได้รับพาสปอร์ตเพื่อบริจาคข้าวให้กับองค์กรการกุศลคนละ 2.5 กิโลกรัม กิจกรรมนี้จะเป็นนวัตกรรมที่สร้างความเข้าใจ และการได้ชิมช่วยเหลือระหว่างคนเมืองกับคนชนบทเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจของชาวนาด้วย
กลุ่มโครงการร้านหอมบุญ จ.สุรินทร์อย่าง คุณลัดดาวัลย์ หอมเนียม ที่เข้าร่วมโครงการด้วย แสดงความคิดร่วมด้วยว่าโครงการข้าวหอมบุญ เป็นเสมือนช่องทางการตลาดให้กับชาวนาของจังหวัดช่วยเกษตรกรรายย่อยและรายเดี่ยวให้สามารถจัดการตนเองได้
"รู้สึกยินดีที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ให้เป็นที่รู้จักไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวพื้นบ้าน เมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้ชาวนาที่มางานวันนี้ได้พบกับประชาชน ได้รู้ว่าประชาชนต้องการข้าวแบบไหน ได้แลกเปลี่ยนกันว่าข้าวพื้นเมืองของจังหวัดเป็นที่นิยมของคนเมืองหรือไม่"คุณลัดดาวัลย์ กล่าวด้วยสีหน้ามีความหวัง
ด้าน ปรีดา จันทร์เรือง ชาวนาในโครงการผูกปิ่นโตข้าว จ.ชัยนาท เล่าถึงที่มาของกลุ่ม "ผูกปิ่นโตข้าว" ว่า เป็นโครงการที่ให้ชาวนาทั่วประเทศมาร่วมโครงการ โดยชาวนา (เจ้าบ่าว) จะนำข้าวมาขายให้ประชาชน (เจ้าสาว) ผ่านโครงการส่วนกลางที่คอยอำนวยความสะดวก (แม่สื่อ) เพื่อให้คนเมืองกับชาวนาผู้ปลูกข้าวได้เจอกัน โดยชาวนาทั่วประเทศจะนำข้าวออร์แกนิกส์พันธุ์พื้นเมืองของตนเอง เช่น ข้าวขาวดอกมะลิข้าวลืมผัว ข้าวไรซ์เบอร์รี ฯลฯ มาขายให้กับคนเมือง งานนี้จึงนับเป็นสื่อกลางที่ชาวนาได้มีโอกาสนำข้าวและขนมที่ทำจากข้าวของตนเองมาให้คนที่มาร่วมงาน
ขณะที่ ชินาภา ชินานุรักษ์ ตัวแทนจากมูลนิธิเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมในนามองค์กรการกุศล นั้นได้เล่าถึงความต้องการข้าวเพื่อนำไปให้เด็กๆ ในมูลนิธิได้รับประทานว่า มูลนิธิเด็กมีโรงเรียนที่จังหวัดนครปฐม เขตพุทธมณฑล (สาย 4)และจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีเด็กเล็กแรกเกิดจนถึงเด็กอายุ 18 ปี รวมแล้วประมาณ 250 คน ใน 1 วัน ต้องหุงข้าวให้เด็กไม่ต่ำกว่า 15 กิโลกรัม การมีข้าวออร์แกนิกส์ที่มีความปลอดภัย มีสารอาหารที่ดีเพื่อบำรุงสมองให้กับเด็กๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มูลนิธิ ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ มีโภชนาการอาหารที่ดีทุกมื้อ
น้ำฝน โพธิชำนาญ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เล่าแบบซื่อๆ ว่า เพราะชอบการปั่นจักรยาน พอทราบข่าวจากทางเฟซบุ๊กของเพื่อนว่า งานนี้ปั่นจักรยาน 1 รอบสนามเขียว เท่ากับช่วยบริจาคข้าวให้องค์กรการกุศลที่เข้าร่วมได้ และยังได้พบกับกลุ่มชาวนาผู้ปลูกข้าวออร์แกนิกส์ด้วย ก็เข้าร่วมทันทีเลย
"ปั่นจักรยานครั้งนี้ สื่อความรักเมตตา แบ่งปันการให้ ได้สุขกายใจสุขสงบไปพร้อมกัน อยากเห็นภาพคนไทยเป็นอย่างนี้ ที่ทุกคนมีเมตตา รู้จักแบ่งปัน วันละนิด สุขเกินบรรยายแล้ว"
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ