ปั่นปลูกฝัง ‘รักสะอาด-มีวินัย’
ที่มา : เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล
เด็กๆ และเยาวชนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ในนาม ‘กลุ่มปั่นจักรยาน Bike For Volunteer’ รวมพลังปั่นเป็นจิตอาสาเก็บขยะให้ชุมชนเป็นเวลากว่า 5 ปี
ทุกๆ เช้าวันเสาร์ เด็กๆ และเยาวชน “กลุ่มปั่นจักรยาน Bike For Volunteer” จากหมู่ 2 หมู่ 7 และ หมู่ 9 ทต.เมืองปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นัดรวมพลกันตั้งแต่ 6 โมง ทั้งรุ่นพี่ ม.1 อายุ 13 ปี ถึงน้องเล็กๆ ป.1 อายุ 7 ปี กว่า 20 คน ถีบจักรยานจากบ้านเพื่อมารวมพลกัน ที่โรงพยาบาลตำบลปากพูน สาขาบ้านพฤหัสใน เพื่อเป็น “จิตอาสา” รุ่นเยาว์ เก็บขยะให้ชุมชนมาตลอด 5 ปี
โดยมี ป้าอู๊ด-ราตรี รักษ์สนิท อสม. ตำบลปากพูน และเป็นผู้ใหญ่ใจดี ชักชวนเด็กๆ ให้เห็นประโยชน์ของการทำงานเพื่อชุมชนและปลูกฝังเรื่องรักสะอาดกับมีวินัยด้วย “ที่เราเลือกเด็กๆ มาทำเรื่องความสะอาดในชุมชนเพราะว่าอยากปลูกฝังเด็ก เราจะไปชักชวนผู้ใหญ่มาร่วมทำไม่ได้ ชวนยาก เลยคิดว่าถ้าเราปลูกฝังกับเด็ก เด็กจะไปพูดต่อกับผู้ปกครองพ่อแม่ได้ ถ้าพ่อแม่เขาไม่ทำ เขาก็จะรักษาความสะอาดเอง นอกจากเรื่องความสะอาดแล้วระหว่างทางปั่นจักรยานยังปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยกฏจราจรด้วย เราจะมีผู้ใหญ่ใจดีขับรถขนาบข้างและปิดท้าย เราสอนให้เด็กรู้จักใช้สัญญาณมือ เราให้สัญญาณเลี้ยวทางไหนบ้างเด็กก็ทำตามได้แล้ว”
ป้าอู๊ดเล่าต่อว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากทางทต.เมืองปากพูน “การพัฒนาเด็กและเยาวชน” คือหนึ่งในแผนพัฒนาของทต.เมืองปากพูน มีเป้าหมายที่การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม มีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่าทีมนักถักทอชุมชน (เจ้าหน้าที่ที่เข้าหลักสูตรนักถักทอชุมชน) ได้เข้าไปมีหนุนกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ อาทิ กลุ่มปั่นจักรยาน Bike For Volunteer กลุ่มโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน และกลุ่มหอยทาก นอกจากนี้ ยังสนับสนุนด้านการศึกษาโดยส่งเสริมให้โรงเรียนจ้างครูมาสอนภาษาต่างประเทศ
เฉลิมชัย ศรีเมือง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพูน ฐานะพ่อเมือง เมืองปากพูน มองเห็นปัญหาสถาบันครอบครัวเริ่มสั่นคลอน พ่อ แม่ ออกนอกชุมชนเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ ทิ้งลูกหลานอยู่กับผู้เฒ่า จึงมีแนวคิด “รื้อฟื้นสถาบันครอบครัว” ด้วยวิธี “แก้ปัญหาจากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน” ด้วยการสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่ผ่านกลไกการจัดการร่วมกันของชุมชนที่เกิดขึ้น “การแก้ปัญหาจากบนลงล่างหมายถึง ผู้บริหารทุกระดับต้องระดับต้องมารับรูปัญหาของชุมชน ขณะเดียวประชาชนก็ต้องเสนอความทุกข์ร้อนมายังเทศบาล งานพัฒนาเด็กและเยาวชนเราก็ใกล้ชิด โดยส่งทีมนักถักทอฯ ลงไปหนุนเต็มที่”
ทีมนักถักทอชุมชนประกอบด้วย สาระภี ศรีพร หัวหน้าฝ่ายบริหารสาธารณสุข , นภดล รามณรงค์ นักวิชาการการศึกษา , ศิริพร ทองเกตุ ,ชัยรัต บุญเนียม หัวหน้าฝ่ายบริการสาธารณสุข ,อรทัย จันทร์เขียว เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และฐาปกรณ์ ศรีเมือง ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน เข้าร่วมอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย “ศิริพร เสริมว่า หลังจากเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชนแล้ว การทำกิจกรรมให้เด็กและเยาวชน แต่ละครั้งต้องกลับมาทบทวนงานตัวเอง “ทำให้การทำงานมีมิติที่กว้างขึ้น ปรับเปลี่ยนความคิดในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์”
หลังจากเด็กและเยาวชนเข้าร่วมโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เกิดผลการยอมรับจากชุมชนเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก เสียงสะท้อนจาก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู ได้สะท้อนผ่านป้าอู๊ด ถึงการเปลี่ยนแปลงของลูกตัวเองมาอย่างมากมาย เช่น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น รู้จักการรอคอย เช่น เวลาทานอาหารเช้าก็รอได้
ขณะที่ป้าอู๊ดเองก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ อย่างชัดเจน “หลังๆ พอมาถึงเวลาทำกิจกรรมกับเรา ไม่ต้องพูดมาก เด็กๆ จะจอดรถเป็นระเบียบ ล้างมือ เข้าแถวเพื่อรับอาหาร คนโตก็จะให้น้องตักก่อน พอ 7 โมงเช้า เขาก็รู้ว่ารถจะออก เขาก็จะเตรียมตัว เอาธงปักที่รถ ยกเครื่องเสียง เตรียมไม้กวาด ถุงดำ ถุงมือ มีลุงวินัยเป็นคนขับรถนำ เราไปแต่ละเสาร์ไม่ซ้ำเส้นทาง น้องๆ จะได้ไปเห็นทุกวัด วัดมะม่วงทอง วัดท่าม่วง มัสยิม และมูลนิธิฯ จะได้ดูวิวทิวทัศน์ ดูหมอก ดูนกกระยาง เราก็จะชี้ขวนให้เขาเห็นว่าพอเราไม่ทิ้งขยะ สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น เด็กเขาก็จะรู้เลย ถุงขนม ลูกผมกินเสร็จจะเก็บเปลือกไว้ในกระเป๋ากางเกงตนเองเด็กๆ ไม่ทิ้งขยะลงข้างทาง เรามองเห็นว่าชุมชนของเราสะอาดขึ้น บางครั้งเราปั่นไป เจอรถเก๋งมาเปิดประตูแล้วโยนขยะทิ้ง เด็กก็หันมาบอกป๊าอู๊ด ขนาดเขานั่งรถยนต์เขายังโยนทิ้ง แต่เรามีขยะ (เปลือกลูกอม) เรายังใส่กระเป๋ากางเกงเลย เราปลูกฝังเขามา 5 ปี แล้ว เขานำไปใช้ในครอบครัว ไปใช้ในโรงเรียน บางคนก็ได้รับคำชมจากคุณครู
เช่น ที่โรงเรียนวัดมะม่วงทอง น้องวุฒิ (ด.ช.ธนาวุฒิ หนูสาย อายุ 10 ปี) เป็นประธานนักเรียน และเพื่อนๆ ในกลุ่มจะช่วยกันดูแลไม่ให้เพื่อนทิ้งขยะไม่เป็นที่ในโรงเรียน จากที่ตอนแรกๆ เราเก็บขยะข้างทางมีเยอะมากได้ประมาณ 2 ถุงดำใหญ่ แต่ปัจจุบันลดน้อยลงมามาก” หลังจากเก็บขยะเสร็จแล้วก็นำขยะกลับมาอนามัยเพื่อคัดแยกกระป๋องน้ำ ขวดน้ำ เอาไปขายและนำเงินมาใส่กระปุกออมสินของแต่ละคนสิ้นปี ใครได้มากกว่าเพื่อนก็มีรางวัลให้
ด.ญ จุฑารัตน์ จันทร์จินดา หรือน้องอัน อายุ 13 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.1 ที่โรงเรียนวัดโบสถ์ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่เรียนชั้น ป.3 “การเข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยาน เราก็ก็จะปั่นจักรยานไปเก็บขยะ ตอนเช้ามาช่วยป้าอู๊ดล้างผัก ปรุงอาหาร ทำให้หนูทำกับข้าวเป็น 1 อย่างคือทำต้มจืด ก็ทำให้พ่อกับแม่กิน แม่ก็บอกว่าเก่งจังไปปั่นจักรยานวันเดียว ได้กับข้าวมาตั้ง 1 อย่าง การปั่นจักรยานทำให้เรามีร่างกายแข็งแรง และเป็นการเก็บขยะบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่วัดด้วย ถึงเราไม่ได้ทิ้งขยะแต่ก็เราก็เก็บขยะ เป็นการปลูกจิตสำนึกตัวเองด้วย”
ด.ช อาชิต วงศ์ฮาด หรือน้องฟลุก อายุ 11 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดโบสถ์ ร่วมสะท้อนการร่วมกิจกรรมว่า “อยากชวนเพื่อนๆ มาทำกิจกรรมกันเยอะๆ ครับ ปั่นจักรยานสนุกกว่าเล่นเกม ได้ออกกำลังกาย ได้ปั่นออกไปดูวิว เราเห็นขยะก็ต้องเก็บแม้ว่าเราไม่ได้ทิ้งเอง”
การปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเด็กๆ ตั้งแต่เล็กๆ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราเชื่อว่าการจะหยั่งรากลึกจิตสำนึกในจิตใจของพวกเขาตั้งแต่ตอนเด็กจะส่งผลได้มากกว่าตอนโต แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือผู้ใหญ่ต้องเข้าใจ เปิดโอกาส และเปิดพื้นที่ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และภาครัฐ ภาคประชาชน ต้องร่วมด้วยช่วยกันหนุนเด็กๆ เช่นเดียวกับที่ ทต.เมืองปากพูน ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ทำเริ่มส่งผลให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยตรง