ปัญหาใช่แค่เทศกาล ‘สกัดภัยเมา’ ขึงขัง…แต่ไม่ถึงไหน?


เลยช่วงเทศกาลปีใหม่ กระแสเรื่อง “เมาแล้วขับ” ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ก็มักซาลงไป แล้วพอถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์กระแสเรื่องนี้ก็จะหวนกลับมาแรงอีก เป็นอย่างนี้มาทุกปี อย่างไรก็ตาม กับเรื่องมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเมืองไทย ก็สอดแทรกกับกระแสนี้มาอย่างต่อเนื่อง และดูจะขึงขังขึ้นเรื่อยๆ


เพียงแต่เอาเข้าจริงยังมีประเด็นติดๆ ขัดๆ อยู่ ?


ทั้งนี้ ย้อนดูอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ข้อมูลจากสรุปผลตามแผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลปีใหม่ 2554 ช่วง 29 ธ.ค. 2553-4 ม.ค. 2554 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ กับมูลเหตุสันนิษฐานการเกิดอุบัติเหตุนั้น อันดับ 1 จำนวน 434 ครั้ง คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด อันดับ 2 คนหรือรถตัดหน้ากระชั้นชิด 154 ครั้ง ส่วน เมาสุรา และยาบ้า รวมกันแล้วเป็นมูลเหตุอันดับ 3 จำนวน 123 ครั้ง


ข้อมูลนี้ก็น่าคิด – น่าพิจารณา..ขณะที่ถ้าจะว่ากันถึงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตรการใหม่ๆ ที่ต้องติดตามดูกันก็ได้แก่ ร่าง 4 อนุบัญญัติ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย 


1. ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. . 


2. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. . .


3. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดวิธีการหรือลักษณะในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. . .


4. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณที่ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. . .


กับเจตนารมณ์ร่าง 4 อนุบัญญัตินี้ เรียงตามลำดับ โดยสรุปคือ


1. หากมีการบังคับใช้ ข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ บนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจเป็นไปได้ที่ประสิทธิผลจะสูงเหมือนกรณีบุหรี่


2. ความหนาแน่นของร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการเพิ่มแรงจูงใจในการดื่ม เพิ่มนักดื่ม และมีร้านที่ทำผิดกฎหมายในการจำหน่ายให้นักเรียน การ ควบคุมการจำหน่ายรอบสถานศึกษา เป็นสิ่งจำเป็น


3. การนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมในน้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือสิ่งอื่นใด แล้วปั่นรวมกัน เช่น เหล้าปั่น เป็นปากทางสู่การดื่มของวัยรุ่น หากไม่ควบคุมจะเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่อย่างรวดเร็ว


4. เดิมกฎหมายกำหนดห้ามบริโภคเฉพาะสถานที่หน่วยงานราชการ ควร ห้ามบริโภคในสถานที่ของรัฐวิสาหกิจ และบริเวณของหน่วยงาน เพื่อให้ครอบคลุม และในส่วนของยานพาหนะทางบก เป็นการห้ามบริโภคภายในหรือบนยานพาหนะที่อยู่ในที่หรือทางสาธารณะ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าคนนั่งมีการส่งให้คนขับดื่ม จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย


ดูแล้วก็เข้าทีแต่ฝ่ายผู้ประกอบการก็มีข้อคิดเห็นโดยสังเขป..ก็คือ…เรื่องคำเตือน..ควรมีลักษณะเตือนถึงโทษและพิษภัยของลักษณะและปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสม..เพื่อให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของนานาประเทศที่กำหนดให้มีคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น มาตรฐานการดื่ม หรือสแตนดาร์ด ดริงค์ (Standard Drink) คำเตือนบนฉลาก..ควรมีจำนวนและขนาดที่เหมาะสมได้สัดส่วนกับพื้นที่ของฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ข้อความคำเตือนและข้อความสำคัญอื่นๆ ได้ชัดเจน..และให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสามารถเลือกข้อความคำเตือนจากข้อความที่กำหนดได้ตามความเหมาะสม


ไม่ควรใช้รูปภาพคำเตือน..เพราะไม่เหมาะสมกับลักษณะ คุณสมบัติ..และประเภทของสินค้า..เครื่องดื่มแอลกอฮอล์..ซึ่งมิใช่ผลิตภัณฑ์ อันตรายด้วยลักษณะและคุณสมบัติของตัวเอง หากแต่อันตรายนั้นเกิดขึ้นจากการบริโภคในลักษณะและปริมาณที่ไม่เหมาะสม ขอให้ภาครัฐ..เข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการขายให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และตรวจจับผู้ที่เมาแล้ว


ขับให้มากขึ้นโดยควรลงโทษให้เฉียบขาดเพื่อให้เข็ดหลาบและไม่กล้ากระทำผิดกฎหมาย อันเป็นการช่วยลดความสูญเสียของสังคม และเศรษฐกิจซึ่งข้อนี้ล่าสุดก็มีภาคประชาชน – เยาวชนออกมาเรียกร้อง ภาครัฐควร มุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ถูกต้อง เช่น การดื่มในลักษณะและปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป การให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบ เป็นต้น ควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่วมส่งเสริมรณรงค์ ให้การศึกษาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การดื่มอย่างรับผิดชอบ หรือมาตรฐานการดื่ม เป็นต้นทั้งนี้ กับข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเหล่านี้ ดูๆ แล้วก็ใช่ว่าไม่น่ารับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะให้มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย มีออกมา และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ติดๆ ขัดๆ


ตั้งป้อมแบ่งฝ่ายโต้กันไปมาก็ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้นร่วมมือกันทุกฝ่ายหาแนวทางที่ลงตัว น่าจะดีกว่าการ ‘สกัดภัยจากการเมา” จะได้เดินหน้าเต็มที่!!!


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code