ปัญหาโภชนาการพระสงฆ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
จากการศึกษาวิจัยปัญหาโภชนาการพระสงฆ์ในเมือง ของคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2554 – ปัจจุบันพบเป็นโรคอ้วน และเป็นโรคเรื้อรัง ร้อยละ 45 โดยเฉพาะพระที่สูงวัย มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เนื่องจากอาหารที่ได้รับไม่ค่อยถูกหลักโภชนาการที่ควรจะเป็น
ขนาดอาหารทั้งหวาน คาว ที่ชาวบ้านถวายส่วนใหญ่จะมีความประณีตเป็นพิเศษแล้วก็ตาม แต่เมื่อตรวจอาหารถุงใส่บาตร กลับพบว่าปนเปื้อนแบคทีเรียที่ทำให้ท้องร่วง เกือบร้อยละ 50 แสดงถึงไม่สะอาดพอ แถมอาหารใส่บาตรมีโปรตีน ผักและปลาน้อยเกินไป ไขมันสูง รสจัด เน้นของทอด ของหวาน อีกด้วย
จึงเป็นประเด็นปัญหาของอัตราการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ ที่มีปัญหาโรครุมเร้า ที่มีทั้งโภชนาการไม่เหมาะและการออก กำลังกายน้อยเกินไป และเป็นที่มาของโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ตามมาด้วย โครงการครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี มี รศ.ดร.เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ มีสสส.สนับสนุน
เริ่มด้วยสร้างเสริมโภชนาการที่ดี และสร้างต้นแบบของครัวในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อย่างเป็น รูปธรรมของการจัดการอาหารถวายพระสงฆ์ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัย ถือเป็นการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ที่เป็นต้นแบบแรกของประเทศไทย เป็นเวลา 8 สัปดาห์
จากผลการวิจัย พระสงฆ์ในกรุงเทพฯ พบว่า พระสงฆ์มี น้ำหนักลด 1 กิโลกรัม รอบเอวลด 1.4 ซ.ม. กลุ่มที่กำลังจะเกิดเบาหวานมีจำนวนลดลง 9.3% ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง 48 มิลลิกรัม % ไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง 30 มิลลิกรัม % และความดันโลหิตลดลง 3.7 ม.ม.ปรอท
พระฉันอาหารโปรตีนเพิ่ม 13 กรัม/วัน ใยอาหารเพิ่มขึ้น 4.3 กรัม/วัน ฉันผักเพิ่ม วันละ 1 ทัพพี ได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้นวันละ 155 มิลลิกรัม กะทิลดลงวันละ 2 ช้อนโต๊ะ
แม้กระทั่งการออกกำลังกาย ที่พบจากการสำรวจครั้งก่อนว่า พระสงฆ์ในชุมชนเมือง ออกกำลังกายน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเดินบิณฑบาต กวาดลานวัด เดินจงกรม และกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายอื่นๆ ที่มีข้อจำกัด แตกต่างจากฆราวาสญาติโยม ล่าสุดพระมีเวลาออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอีกวันละ 50 นาที
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นนี้เป็นแบบลูกระนาดและให้ผลดีหลายอย่าง ที่สังคมต้องไม่วางเฉย