ปัญหาเด็กเยาวชน ที่ถูกซุกไว้ใต้พรม
ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวไทย
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าวไทย
เครือข่ายเยาวชนยื่นหนังสือ รมว.ศธ.เนื่องในวันเยาวชน ขอให้ ศธ.ทำงานเชิงรุก ออกมาตรการรับมือปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่ล่อลวงเด็กเยาวชน-นำชุดความรู้วิชาชีวิตจากบ้านกาญจนาฯ ต่อยอดพัฒนาเพิ่มทักษะชีวิต-ปฏิรูปฝ่ายครูแนะแนวทุกสถาบันให้ทำงานเชิงรุก
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตและเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชนกว่า 30 คน เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อเรียกร้องเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ โดยขอให้ ศธ.ทำงานเชิงรุก ออกมาตรการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่ล่อลวงเด็กและเยาวชน หลังพบว่าปัญหาเด็กและเยาวชนทวีความรุนแรงขึ้นในทุกมิติ เช่น ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน ท้องไม่พร้อม ติดโซเชียล ติดเกมส์ พร้อมนำชุดความรู้วิชาชีวิตจากบ้านกาญจนาฯ ไปต่อยอดพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิตให้กับเยาวชน
โดยได้มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปัญหาเด็กเยาวชน ที่ถูกซุกไว้ใต้พรม” เพื่อสะท้อนตัวอย่างที่ตามมากับระบบแพ้คัดออกของการศึกษาไทย พร้อมนำอดีตนักเรียน ที่เคยก้าวพลาด แล้วถูกออกจากโรงเรียนกลางคัน มาร่วมสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นด้วย โดยมี น.ส.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภารับเรื่องแทน รมว.ศึกษาธิการ
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาอบายมุข เหล้า บุหรี่การพนัน ยาเสพติด ติดเกมติดมือถือ รวมถึงท้องไม่พร้อม เป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งอนาคตของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เด็กและเยาวชน เล่นพนันมากถึง 3.6 ล้านคน มีนักดื่มหน้าใหม่ 250,000 คนต่อปี รวมถึงมีเด็กและเยาวชนไทยเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,510 ราย ขณะเดียวกันในวัยนี้เด็กไทยที่อายุต่ำกว่า15-24 ปี ติดบุหรี่กว่า 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ตามมาอีกมากด้วยระบบแพ้คัดออก ลอยแพเด็กหลังห้อง ระบบการประเมินผลที่ทำให้เกิดการซุกขยะไว้ใต้พรม ไม่กล้านำความจริงนำปัญหามาพูดกันเพราะกลัวกระทบการประเมินหรือภาพลักษณ์สถาบัน
ทั้งนี้ จากข้อห่วงใยที่เกิดขึ้น เครือข่ายเด็กและเยาวชนฯ จึงมีข้อเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 2561 เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้ 1.ขอให้กระทรวงฯ นำแนวคิดเรื่องวิชาชีวิต ซึ่งพัฒนาและรวบรวมโดยศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก ไปต่อยอดพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิต เป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน เมื่อต้องเผชิญกับความจริงในสังคม
2.ขอให้กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน (ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน ท้องไม่พร้อม ติดโซเชียลมีเดีย ฯลฯ) โดยกำหนดให้สถาบันการศึกษาต้องดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นำการแก้ไขปัญหาเด็กที่เคยผิดพลาดมาพิจารณาร่วมในการประเมิน
3.ขอให้กระทรวงฯ มีการปฏิรูปฝ่ายครูแนะแนวของทุกสถาบันการศึกษา ให้ทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับปัญหาปัจจัยทางสังคมที่ชักนำ ล่อลวง เด็กและเยาวชน ให้ตกหลุมพลาง มีการให้คำปรึกษาที่เป็นมิตร ไม่ซ้ำเติมและเป็นที่ไว้วางใจของเด็กและเยาวชน โดยอาจมีการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิต่างๆในพื้นที่ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ
ขณะที่ นายชยุต พ่วงมหา เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า ปัจจุบันวัยรุ่นที่พลาดพลั้งเกี่ยวกับเรื่องเพศมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงเด็กที่ต้องออกโรงเรียนกลางคันมีสูงกว่า 1 แสนคนต่อปี คำถามคือเด็กนักเรียนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ควรต้องอยู่ในระบบการศึกษา แต่ทำไมเด็กกลุ่มนี้ต้องออกมาและส่วนใหญ่มาเรียนต่อที่ กศน.จำนวนมาก แปลว่าเด็กมีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากโรงเรียน และโรงเรียนก็ไม่ได้รับผิดชอบถึงจุดสูงสุด โดยไม่ส่งเสริมให้เขาได้เรียนจนจบ แต่กลับปัดปัญหาผลักดันเขาออกมา แต่แม้อยากจะออกมาทางโรงเรียนก็ควรต้องดึงไว้ไม่ใช่หรือ เพราะอย่าลืมว่า กศน.ไม่ได้ทำระบบไว้รองรับเด็กนักเรียนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เช่น กรณีล่าสุดที่ทางมูลนิธิฯ เข้าช่วยเหลือ คือนักเรียน ม.5 ตั้งครรภ์ พอครูรู้ว่าจะให้ออก แต่เด็กต้องการเรียนต่อให้จบ เรื่องนี้ ต่อสู้กันและเคยนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในที่ประชุมสภา พ.ร.บ.การตั้งครรภ์ไม่พร้อม จนหลายฝ่ายเข้าช่วยเหลือให้เด็กสามารถเรียนต่อได้ แต่เมื่อเด็กถูกต่อว่าจนบอบช้ำ จึงเลือกที่จะไม่เรียนต่อ
นอกจากนี้ ยังมีเคสที่โรงเรียนให้เด็กเลือกระหว่างยุติการตั้งครรภ์แล้วได้เรียนต่อ หรือ ถ้าไม่ยุติการตั้งครรภ์ก็ต้องออกจากโรงเรียน โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนไม่มีระบบการช่วยเหลือ จะให้เด็กออกอย่างเดียว มุ่งเน้นรักษาภาพลักษณ์ของสถาบัน ห่วงผลประเมินหากพบว่าเด็กมีปัญหา ดังนั้น เมื่อหลักสูตรทุกอย่างต้องผ่านศธ. ศธ.ก็ควรต้องเป็นที่พึ่ง เป็นโค้ชให้เด็กและเยาวชน ควรทำระบบการศึกษาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีวิชาเพศศึกษา วิชาชีวิต ให้เด็กเข้าไปอยู่ในหลักสูตร และต้องมีในคาบเรียนเกิน 16 คาบต่อปี อีกทั้งครูแนะแนว ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ให้คำปรึกษาอย่างเป็นมิตร สร้างระบบ สร้างสิทธิให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนด้วย จึงอยากสนับสนุนให้ ศธ. เร่งนำองค์ความรู้เรื่องวิชาชีวิต ของบ้านกาญจนาฯ มาประยุกต์ต่อยอด เพื่อเป็นต้นทุนชีวิตให้เด็กๆและเยาวชน
ด้าน รองปลัด ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า รมว.ศธ.มอบให้มารับเรื่องแทน ก็ต้องขอบคุณความปราราถนาดีที่ผู้แทนองค์กรและเครือข่ายเยาวชนฯ ออกมาเนื่องในวันเยาวชนแสดงออกถึงความห่วงใยเยาวชนของประเทศ โดยเฉพาะความห่วงใยเรื่องของแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด การท้องไม่พร้อม ซึ่งเป็นปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องติดเกมส์ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งภารกิจสำคัญของกระทรวงฯ มีภารกิจดูแลเยาวชน ที่ผ่านมาก็มีความพยายาม มีประกาศ มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษา ดำเนินการหลายๆ เรื่อง และหลายเรื่องก็เห็นผลชัดเจน แต่ก็มีหลายเรื่องก็ต้องยอมรับว่า ศธ.มีโรงเรียนในสังกัดอยู่เป็นจำนวนมาก ประกาศบาง อย่างลงไปอาจจะไม่ทั่วถึงหรือมีความล่าช้า ดังนั้น การที่มีเครือข่ายต่างๆ เข้ามากระตุ้นส่งเสริมตรงนี้ก็จะช่วยให้งานง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยเฉพาะใน 3 ข้อที่เสนอมาวันนี้ ศธ.ยินดีจะรับไปพิจารณา เช่น การเพิ่มทักษะชีวิตของบ้านกาญจนา ซึ่งทำได้ดีมากและเป็นบทเรียนสำคัญซึ่งวิชาทักษะชีวิตของ ศธ.มีอยู่แล้วในวิชาลูกเสือ แต่ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว การตื่นตัวที่จะเข้าไปผลักดัน วิชาชีวิตที่มีอยู่จึงอาจไม่ทันการ ดังนั้น ก็จะนำการเพิ่มทักษะชีวิตของบ้านกาญจนาเข้าไปเสริมในหลักสูตรให้กว้างขวางมากขึ้น
ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ในเรื่องยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน ท้องไม่พร้อม ติดโซเชียลมีเดีย ศธ.ก็จะพยายามในการจะไปรณรงค์ดูแลให้ชัดเจนทุกภาคส่วน ขณะนี้มีการตั้งศูนย์อำนวยการในระดับโรงเรียนแล้ว ก็จะลงไปขับเคลื่อนในเรื่องยาเสพติดจะทำให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ
ส่วนเรื่องแนะแนว ก่อนนี้ ศธ.มีครูแนะแนว แต่เนื่องจากระยะหลังมีน้อยลงอาจเกี่ยวกับจำนวนครูที่ลดลง แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ได้จัดหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลช่วยเหลือนักเรียนก็จะนำข้อเสนอของเยาวชนไปผนวดทำตรงนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ รมว.ศึกษาฯ กล่าวว่า ยินดีรับคำเเนะนำที่เสนอมา เช่นการปฏิรูปครูเเนะเเนว ศธ.ทำมาอย่างต่อเนื่อง เเต่อาจยังไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น เเละในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ เด็กในยุคปัจจุบันต้องก้าวทันยุคดิจิทัลเเละกระเเสโลกที่มีการเปลี่ยนเเปลงอย่างรวดเร็ว จึงฝากว่าควรคิดวิเคราะห์ เเยกเเยะเเละมีสติในการรับข้อมูลให้มาก อย่าเพิ่งหลงเชื่ออะไรง่ายๆ