ปัญหาเด็กพุ่ง รัฐเตรียมพัฒนาคุณภาพชีวิตด่วน!
พบ! มีแนวโน้มถูกส่งเข้าสถานพินิจสูงขึ้น
ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) นโยบายของคณะรัฐมนตรีและนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดให้การพัฒนา “สังคมและคุณภาพชีวิต” เป็นยุทธศาสตร์และนโยบายที่สำคัญของการพัฒนาประเทศอีกด้านหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและการพัฒนา นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต และประชาชนมีความสุข ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบัน มีปัญหาด้านสังคมและคุณภาพชีวิตเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ที่มาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ
“พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก” พ.ศ.2546 จากเดิมที่หน่วยราชการจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ขณะที่มีบุคลากรและงบประมาณมีจำกัด และตลอดเวลานานกว่า 20 ปี ที่รัฐบาลชุดต่างๆ ให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมค่อนข้างน้อย มุ่งแต่การพัฒนาประเทศเพื่อสร้างรายได้และเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ปัญหาเด็กเป็นปัญหาหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องด้วยที่ผ่านมาจากข้อมูลภาครัฐ พบว่า สถานภาพการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน มีจำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ระหว่างปี 2538-2542 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปี 2542 เด็กและเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีอาญามีจำนวน 37,388 ราย พนักงานอัยการพิจารณาเห็นควรสั่งฟ้อง จำนวน 34,131 ราย และศาลพิพากษา จำนวน 32,333 ราย โดยมีเด็กและเยาวชนจำนวน 5,099 ราย เป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ
นอกจากนี้ “คุณภาพการศึกษา” ของเยาวชนมีสภาพด้อยลงมาก เพราะโครงสร้างระบบที่รื้อปรับใหม่ไม่มีเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาในทางปฏิบัติมากนัก วัฒนธรรมองค์กรยังเหมือนเดิม เป็นระบบราชการศึกษาอนุรักษ์นิยม และติดกรอบการทำงานเชิงระเบียบกฎเกณฑ์หรือแบบแผนดั้งเดิมที่สั่งสมกันมา ส่งผลให้นวัตกรรมแนวคิดใหม่ๆ ไม่สามารถสอดแทรกเข้าสู่กระแสหลักได้มากนัก เด็กจำนวนมากกำลังถูกบีบให้ออกจากโรงเรียน ครอบครัว ชุมชน เข้าสู่วงจรอบายมุขของสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมอันตราย หลุมดำ และเครือข่าย ทำให้เด็กเข้าสู่ถนนยุวอาชญากรง่ายขึ้นเป็นลำดับ
ในการนี้ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” ร่วมกับ “องค์การยูนิเซฟ” ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดโครงการประชุมผู้บริหารของ 25 จังหวัดเป้าหมาย เพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นในการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อเพิ่มความตระหนักของผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับสิทธิเด็ก และสร้างความร่วมมือในการทำงานของผู้บริหาร ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน 300 คน ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด นายกและปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครและเทศบาลเมืองทุกแห่ง รวมทั้งนายกและปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ที่คัดเลือกจังหวัดละ 1 แห่ง จากพื้นที่เป้าหมายขององค์การยูนิเซฟ จำนวน 25 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ตาก ศรีสะเกษ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี สระแก้ว ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล ตรัง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับเกียรติจาก “พีรพล ไตรทศาวิทย์” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมฯ ครั้งนี้ด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
update 16-05-51