ปัญหาหย่าร้าง ฉุดพัฒนาการเด็กไทย
เด็กจะดีหรือร้าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัว ยิ่งปัจจุบันอัตราของการหย่าร้างของพ่อแม่มีสูง ผลกระทบย่อมตกมาที่ลูกเป็นธรรมดา
โดยเฉพาะประเด็นหลัก จะเป็นเรื่องการขาดความรัก ความอบอุ่น และคนให้คำปรึกษา ผลที่ตามมาเป็นห่วงโซ่ ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ ต้องออกไปหาสิ่งที่ขาดหาย เพื่อเติมเต็มสิ่งเหล่านั้น ถูกบ้าง ผิดบ้าง และนำมาซึ่งปัญหาสังคมมากมาย อย่างเช่น การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การใช้ความรุนแรง การติดยาเสพติด ฯลฯ
ขณะที่ภาครัฐ พยายามจะเข้ามาแก้ไข แต่ก็ดำเนินการที่ปลายเหตุ โดยปราศจากความเข้าใจ ทั้งที่ปัญหาส่วนใหญ่ เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะความเชื่อที่ผิดๆ ทั้งสิ้นของพ่อ แม่ ผู้ปกครองในการเลี้ยงเด็ก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมตัวของผู้ปกครองกลุ่มหนึ่ง ที่ตระหนักถึงปัญหานี้ และมองว่าการระงับปัญหาในครอบครัว ต้องเริ่มที่การให้คำปรึกษาและความรู้ ที่ถูกต้องเมื่อเจอวิกฤติชีวิต เป็นที่มาของ “มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว”
นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า มูลนิธิฯ เกิดจากการรวมตัวของผู้ปกครองในปี 2542 จากกระแสปฏิรูปการศึกษา ที่จัดให้มีเวทีผู้ปกครองขึ้นในโรงเรียนต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกัน ในเรื่องการศึกษาของลูก พร้อมพูดคุยเรื่องครอบครัวและปัญหาลูกหลาน ต่อมาจึงตั้งชมรมผู้ปกครองพ่อแม่ขึ้นมาและพัฒนามาเรื่อยๆ
พอปี 2543 ได้จดทะเบียนมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวขึ้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงลูก การดูแลสมาชิกในครอบครัว กรณีพบปัญหามีความทุกข์อย่างไร เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนและแก้ไขปัญหา พร้อมนำไปเป็นความรู้แก่ครอบครัวอื่นๆ
“พอเรามีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ จึงเกิดทักษะในการดูแลบุตร สมาชิก และดูแลความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา แต่พอดำเนินการจริงกลับพบว่า ปัญหาไม่ได้มีแต่เฉพาะครอบครัว ยังมีหลายเรื่องที่ไม่สามารถจัดการได้ จึงมีการร่วมกลุ่มไปเรียกร้องหรือบอกกล่าวให้สังคมและผู้มีอำนาจรัฐ เข้ามาดูแล” นายวันชัยกล่าว
ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ช่วงแรกจะเน้นเรื่องระบบการศึกษาของลูก และช่วงหลังจะเพิ่มการดูแลเรื่องสื่อที่สร้างผลกระทบ โดยเฉพาะจากโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เกมต่างๆ
“สำคัญที่สุดคือ เรื่องสวัสดิการให้แก่ครอบครัวที่เลี้ยงเดี่ยว เกิดจากการหย่าร้าง และครอบครัวที่ลูกเกิดมาพิการต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ ที่ผ่านมารัฐจะมองเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องปัจเจก พุ่งเป้าไปที่เด็ก คนแก่ ผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว โดยไม่สร้างความแข็งแรงให้แก่ครอบครัวที่เป็นผู้ดูแลคนกลุ่มนี้” ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว อธิบาย
นายวันชัย บอกต่อว่า สมัยนี้ปัญหาครอบครัวเข้ามามาก และที่เพิ่มปริมาณมากที่สุดคือ สัมพันธภาพของครอบครัว ปัจจุบันอัตราการหย่าร้างของพ่อแม่สูงมาก แนวโน้มครอบครัวไทยก็จะเป็นลักษณะนี้สูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเด็กขาดพ่อ ขาดแม่
“เด็กจะมีความรู้สึกขาดความรัก รวมทั้ง พัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจ เพราะเขาจะรู้สึกความรักที่เคยได้รับมันขาดหายไป เวลาขาดคนใดคนหนึ่งไปจะรู้สึกว่าตัวเองขาดรัก และอาจทำให้เกิดปัญหาเชิงพฤติกรรมตามมาจะเรียกร้องจะโหยหาความรัก”
“หากพ่อหรือแม่ที่ดูแลไม่สนองสิ่งเหล่านี้ได้ เด็กจะออกไปหาข้างนอก หากเจอสังคมที่ไม่ดีอาจทำให้เกิดเรื่องเลวร้าย สอดคล้องกับสถิติจากสถานพินิจเด็กและเยาวชน ที่ควบคุมเด็กที่กระทำความผิด พบว่าประมาณกึ่งหนึ่งมาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน” นายวันชัย อธิบาย
นายวันชัย ว่าต่อเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวของพ่อแม่ มาจากเรื่องนอกใจถึงร้อยละ 80 และส่วนใหญ่มาจากฝ่ายชายที่ไปติดหญิงอื่น และภรรยาก็ทนไม่ได้ นำมาซึ่งการทะเลาะ เลิกกันตามมา ขณะที่ความไม่เข้าใจของสามีภรรยาก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น
แนวทางแก้ไขต้องสร้างความสัมพันธ์ของพ่อแม่ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงจะแต่งงานต้องศึกษากันให้ดี และตกลงว่าจะเป็นผัวเมียคู่เดียว หากเกิดวิกฤติในครอบครัว อยากให้ทุกคนมีสติ กลับมาทบทวนว่า เราจะแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกันอย่างไร ปกติหากในครอบครัวที่มีผู้ใหญ่ อย่างเช่น พ่อตา แม่ยาย อยู่ด้วยก็จะช่วยตักเตือนให้กลับมาดูแลซึ่งกันและกันได้
“รัฐยังสามารถช่วยได้อีกทาง หากพบว่าคู่ไหนมีเรื่องบาดหมาง มีความขัดแย้ง ต้องมีศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว จะเป็นโทรศัพท์สายตรงให้คำปรึกษา หรือมีเจ้าหน้าที่พร้อมจะให้คำชี้แนะ หรือมีผู้ที่สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ย หรือสร้างกิจกรรมในครอบครัว ในต่างประเทศเขาก็ทำเรื่องนี้ แต่เมืองไทยไม่สนใจเรื่องพวกนี้” ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวกล่าวและว่า
“นอกจากนี้ ปัญหาอีกประการคือ พบพ่อแม่วัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น ที่มีลูกโดยตัวเองยังเป็นผู้เยาว์ หรืออายุต่ำกว่า 20 ปี โดยพฤติกรรมไปคลอดลูกในโรงพยาบาลสูงขึ้นทุกปี และจากสถิติถือว่าประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก ผลที่ตามมาคือ ความไม่พร้อมในการดูแลลูก ขณะที่ตัวเองก็ไม่มีการศึกษาในเรื่องครอบครัว การคุมกำเนิด การดูแลตัวเอง”
ขณะที่กระแสสังคมปล่อยให้เด็กได้รับอิสระเพิ่มมากขึ้น การที่เขาไปมีเพศสัมพันธ์ ก็จะทำให้มีลูกสูงขึ้นตามมา และปัญหาที่ตามมาคือ ทักษะในการดูแลลูกก็จะน้อยลงตามไปด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาสังคมที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ
“มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กำลังเดินหน้าผลักดันเรื่องสวัสดิการให้แก่ครอบครัวที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น กลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวพ่อแม่วัยรุ่น หรือมีลูกพิการ เพราะพวกเขาต้องการงบประมาณไปเกื้อหนุนทำให้ดูแลครอบครัวได้”
ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว อธิบายว่า สิ่งที่เขาต้องการคือ การประกันรายได้ให้ครอบครัวอยู่รอด ประกันเรื่องการศึกษาของลูก เช่น เมื่อลูกเกิดมาเป็นเด็กพิเศษ ทำอย่างไรจะได้รับการศึกษาและเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ และรับการกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้ได้หรือไม่ รวมทั้ง ยังมีเรื่องการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว ว่าจะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงหรือไม่
“สิ่งที่พวกเขาอยากได้ที่สุด แต่ภาครัฐยังไม่เคยคิดคือ การประกันการเรียนรู้ในการดูแลครอบครัว เช่น ศูนย์การเรียนรู้และคำปรึกษาแก่ครอบครัวขึ้น ครอบคลุมไปถึงตำบลทุกอำเภอ โดยมูลนิธิฯ ต้องพยายามไปผลักดันเรื่องกับรัฐบาลให้ได้ โดยที่ผ่านมา มีการพูดคุยในการจัดงานสมัชชาครอบครัวแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ลงมารับข้อเสนอไปแล้ว”
ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ยอมรับว่า ขณะนี้หน่วยงานที่ทำเรื่องครอบครัวมีจำนวนน้อยมาก มีเพียง 2-3 แห่งในกรุงเทพฯ ถือว่าไม่เพียงพอ เพราะไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ หรือบางพื้นที่ได้แทบจะไม่มีเลย เพราะส่วนใหญ่มูลนิธิต่างๆ จะทำเรื่องเด็กเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานที่ดูแลครอบครัวจะเกิดขึ้นได้ รัฐบาลต้องให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณให้คล่องตัวมากกว่านี้ ขณะที่ประชาชนภาคพลเรือนมีความพร้อมรวมกลุ่มแล้ว แต่ปัญหาคือ ไม่สามารถหารายได้งบประมาณ พัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมได้ เพราะขาดผู้ให้การสนับสนุน ให้การดูแล และให้โอกาสพวกเขา
“3 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดูแลงานสุขภาวะครอบครัว จะเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้เรื่องครอบครัว ในโรงเรียน ในชุมชนต่างๆ ตอนนี้มีการขยายผลได้มากมีชุมชนประมาณ 500 แห่งทั่วประเทศก็ทำเรื่องนี้ ทำให้เกิดเครือข่ายผู้ปกครองมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อดูแลกันเอง และสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมา”
นายวันชัย ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหานักเรียนนักเลงตีกันว่า การที่นักเรียนใช้ความรุนแรง บทสรุปมาจากพัฒนาการของเด็กที่เป็นวัยรุ่นต้องการความท้าทาย รวมถึง การเลี้ยงดูของครอบครัวไม่ดี และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเรื่องทะเลาะวิวาท โดยเฉพาะรุ่นพี่รุ่นน้องปลูกฝังกันมา
การดูแลต้องครอบคลุมเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมา จะทำให้แก้ปัญหาได้คือ ส่งเสริมพฤติกรรมทางบวก เช่น กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้มากๆ ให้เขาเป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม ต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้อง โดยกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเข้ามาช่วยให้สภาพแวดล้อมให้เป็นโรงเรียนที่ดีไม่ใช่เกเร และการเลี้ยงดูและสร้างความรักกันในครอบครัวให้สมบูรณ์ สื่อสารความรู้สึกที่ดีให้มากขึ้นระหว่างพ่อ แม่ ลูก พร้อมทั้ง สร้างเครือข่ายครอบครัวในโรงเรียนด้วย
“หากทำตามนี้ได้ไม่เพียงแก้ปัญหาความรุนแรงได้ จะทำให้เด็กดีเพิ่มมากขึ้น ทำประโยชน์ให้แก่สังคมอีกด้วย” ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์