ปัญหาสุขภาวะชาวนา โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ปัญหาสุขภาพของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกร คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพและสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย มีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต
คุณสุชาดา ทรงบัญฑิต มูลนิธิชีวิตไท กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นปัญหาสุขภาพและสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตปีละกว่า 300,000 คน และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร ผิดส่วนทั้งในเรื่องของคุณภาพและปริมาณ
การเลือกอาหารโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ต่อร่างกาย การติดอาหารที่มีรสจัดเกินพอดี เช่น เผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม และมัน การเลือกกินอาหารสำเร็จรูป และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทำให้เราแทบจะไม่ได้ขยับแรงกาย การเลือกความสะดวกเป็นสำคัญทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่มาจากพฤติกรรมการกินและพฤติกรรมการใช้พลังงานของร่างกายที่ไม่เหมาะสม ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย
ความมั่นคงในการประกอบอาชีพทำนา สุขภาพที่ดี และมีอำนาจต่อรอง เป็นเป้าหมายหลักของการสร้าง "สุขภาวะชาวนา" ดังนั้นที่ผ่านมามูลนิธิชีวิตไทไม่เพียงทำงานส่งเสริมศักยภาพด้านการปรับตัวของชาวนาเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน การรักษาที่ดินทำกิน ด้วยการปรับวิถีการผลิตสู่เกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร เน้นวิถีการผลิตสู่การพึ่งพาตน เองและสร้างความมั่นคงทางอาหาร หนึ่งในประเด็นปัญหาที่เราค้นพบว่าเป็นปัญหาสำคัญของชาวนาและเกษตรกร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพและต้นทุนคุณภาพชีวิตของชาวนาและเกษตรกร นั่นคือ ปัญหาสุขภาพของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกร
จากผลการสำรวจปัญหาสุขภาวะของชาวนาและเกษตรกรพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด จำนวน 150 ครัวเรือน ในเดือนมิถุนายนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรร้อยละ 66 มีโรคประจำตัว/คนป่วย มีโรคประจำตัวสูงสุดอันดับหนึ่ง คือ โรคความดันโลหิต ร้อยละ 38.36 รองลงมาคือ โรคไขมันในเลือด ร้อยละ 29.56 โรคเบาหวาน ร้อยละ 26.42 โรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 3.14 และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ร้อยละ 2.52 นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีภาวะน้ำหนักเกิน ภาวะโรคอ้วน และภาวะโรคอ้วนอันตราย รวมกันถึงร้อยละ 56.75 ภาวะโรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ
เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต มูลนิธิชีวิตไทตระหนักถึงความสำคัญที่จะให้ความรู้ความเข้าใจให้กับชาวนาและเกษตรกรในการดูแลสุขภาพ ป้องกันบรรเทาโรค NCDs รวมทั้งข้อมูลโภชนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา จึงจัดอบรม "การบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยเพื่อสุขภาวะชาวนา" โดยมีวิทยากรคือคุณแววตา เอกชาวนา ที่ปรึกษาโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม สสส. และนักกำหนดอาหารวิชาชีพ
คุณแววตา ได้นำเสนอว่า คนเราจะมีอายุจริงคือ อายุปฏิทิน กับ อายุร่างกาย คือ อายุสุขภาพ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อายุร่างกายมากกว่าอายุปฏิทิน (ร่างกายแก่) เกิดจากการกิน การใช้ชีวิต (น้ำตาล ความเครียด ภาวะอักเสบ) ถ้ากินดี ใช้ชีวิตดี สุขภาพของเราก็จะดี การที่เราจะมีสุขภาพดี เป็นเรื่องที่ว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ดังนั้นเราควรมาดูกันว่าในช่วงวัยของเราควรกินอะไรบ้าง ซึ่งวิทยากรได้แนะนำว่าเรื่องไขมันใต้พุง ผู้หญิงไม่ควรมีเส้นรอบพุงเกิน 80 เซนติเมตร และผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร โรคอ้วนลงพุงเกิดจากเราทานหวาน เค็ม มันมากเกินไป ถ้าเรามีพุงตามมาตรฐานก็จะทำให้สุขภาพของเราดี และห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา
นอกจากนี้เราควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เหมาะสมกับความต้องการในช่วงอายุต่างๆ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดโทษในระยะยาว และมีความปลอดภัย เลือกอาหารจากแหล่งที่เราไว้ใจได้ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกปลูกผักกินเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีต่างๆ รวมทั้งมีกรรมวิธีการปรุงอาหารที่ถูกต้อง
นอกจากการเลือกกินให้ปลอดภัย ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะช่วยยืดอายุให้ยืนยาวแล้ว เราควรใส่ใจและกินให้พอดี กินให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ร่างกายต้องการ หรือมีวิธีการเลือกสัดส่วนการทานอาหารต่อมื้อคือ ผัก 2 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน และข้าว 1 ส่วน ก็จะเป็นการกะปริมาณอาหารที่พอดีในหนึ่งมื้อได้ และทำให้เราไม่ทานมากจนเกินไปหรือน้อยเกินไปตามที่ร่างกายจะได้รับ
จากการที่เกษตรกรได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โรคที่มาจากพฤติกรรมการกินอาหาร รวมถึงเกษตรกรได้เรียนรู้แนวทางปรับพฤติกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี "กินให้ดี แล้วโรคจะไม่มี" ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะกับร่างกายและช่วงวัยมากยิ่งขึ้น เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่พอดีแก่ร่างกาย จะห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมความเคยชินถือเป็นสิ่งที่ท้าทายเกษตรกรอย่างหนึ่ง เพราะเป็นความเคยชินที่ทำมานาน ซึ่งหลายคนก็อาจจะประสบกับปัญหานี้ แต่หากไม่เริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้ "สุขภาพที่ดี" ก็คงเป็นได้เพียงภาพแห่งความฝัน
หนึ่งในประเด็นปัญหาที่เราค้นพบว่าเป็นปัญหาสำคัญของชาวนาและเกษตรกร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพและต้นทุนคุณภาพชีวิตของ ชาวนาและเกษตรกร นั่นคือปัญหาสุขภาพของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกร