ปัญหาการนอน

ที่มา: มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย  สสม.


ปัญหาการนอน thaihealth


แฟ้มภาพ


อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่าการนอนคือวิธีพักผ่อนที่ดีที่สุด แต่ใช่ว่าทุกคนยามหัวถึงหมอนก็หลับสบายเพราะการนอนสำคัญและเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ มากกว่าที่คุณคิด ถ้าคุณมีอาการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือง่วงหาวเป็นประจำในตอนกลางวัน อะไรคือปัญหาที่กวนใจแท้จริง


เรามักจะเชื่อกันว่า ขณะนอนหลับพักผ่อน ร่างกายกับสมองจะหยุดพักไปด้วย แต่ในข้อเท็จจริง แม้ว่าในขณะหลับร่างกายจะหยุดพักผ่อนแต่สมองยังคงทำงานอยู่ การนอนหลับเป็นเพียงการลดภาระให้สมองทำงานน้อยลง ข้อสำคัญสมองยังคงควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจ ระบบประสาท ฯลฯ


แล้วที่บอกว่า สว.หรือผู้สูงวัยไม่จำเป็นต้องนอนมากจริงหรือไม่นั้น ต้องขอตอบว่า “ไม่จริง” เพราะ สว.ต้องการนอนหลับพักผ่อนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เช่นเดียวกับคนวัยหนุ่มสาวทั่วไป แม้อายุที่มากขึ้น ประกอบกับการทำงานของอวัยวะในร่างกายเริ่มเสื่อมไปตามเวลา ทำให้กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้พฤติกรรมการนอนไม่เหมือนเดิม นอนหลับได้น้อยชั่วโมงลง หรือหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืน แต่ร่างกายก็ยังคงต้องการเวลาพักผ่อนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เหมือนลูกหลานทั่วไป


อีกเรื่องหนึ่งที่คนหนุ่มสาวมักจะคิดเข้าข้างตนเองเสมอๆ ว่า“การนอนหลับพักผ่อนน้อยเป็นประจำ” จะทำให้ร่างกายเคยชินและไม่ต้องการนอนมากอย่างที่เคย ก็ต้องบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในข้อเท็จจริง เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการนอนว่า ในวัยผู้ใหญ่หากนอนให้ได้ประมาณ 7-9 ชั่วโมงทุกวัน จะส่งผลให้สุขภาพร่างกายโดยรวมดีอย่างน่าทึ่ง หากวันไหนนอนหลับได้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะชดเชยชั่วโมงนอนที่ขาดรวมกับชั่วโมงนอนในอีก 2-3 คืนถัดไป ไม่ว่าเราจะนอนน้อยเป็นประจำหรืออดนอนเป็นประจำแค่ไหน ร่างกายจะไม่มีวันชินหรือยอมรับให้นอนน้อยได้ตลอด เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติในเรื่องการพักผ่อนที่ร่างกายต้องการ จะทำให้เกิดความอ่อนล้าทั้งทางร่างกาย จิตใจและอารมณ์ต่างๆ ทั้งยัง ทำให้ความสามารถในขบวนการคิดระดับสูงลดลง


ถ้าอย่างนั้นการที่ผมง่วงหาวตอนกลางวันแสดงว่านอนไม่พอใช่ไหม?… “ใช่” สาเหตุของอาการง่วงหาวตอนกลางวันอาจมีส่วนหนึ่งมาจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ แต่ก็อาจเกิดกับคนที่นอนหลับเต็มอิ่มได้ด้วย และถ้าง่วงผิดสังเกตอาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีเรื่องสุขภาพอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ร่างกายขาดการพักผ่อนอย่างเต็มที่ จำเป็นต้องไปปรึกษาแพทย์ต่อไป


แล้วการนอนน้อยมีผลต่อน้ำหนักตัวจริงหรือ? “จริง” หากนอนหลับไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเลปตินและเกรลิน ส่งผลทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ฮอร์โมนทั้ง 2 มีหน้าที่ควบคุมและสร้างสมดุลความต้องการอาหาร ฮอร์โมนเกรลินถูกผลิตขึ้นในระบบทางเดินอาหาร มีหน้าที่กระตุ้นความอยากอาหาร ในขณะที่เลปตินถูกผลิตในเซลล์ไขมัน ทำหน้าที่ส่งสัญญาณรับรู้ว่าอิ่มไปยังสมอง เมื่อได้รับอาหารพอดีกับความต้องการ ดังนั้นหากนอนหลับไม่เพียงพอ จะส่งผลทำให้ระดับเลปตินต่ำลง ร่างกายไม่รู้สึกอิ่มอย่างที่ควรจะเป็น ตรงกันข้ามฮอร์โมนเกรลินจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ร่างกายรับประทานอาหารเกินพอดี น้ำหนักก็เพิ่มมากขึ้น


การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ คือ การหลับสนิท ตื่นนอนมาพร้อมกับความสดชื่นและมีพลังที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การทำงานของร่างกายโดยเฉพาะการทำงานของสมองเป็นไปได้อย่างปกติ รวมถึงต้องมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เหมาะสม เช่น สุขภาพร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตใจดี รับประทานอาหารที่เพียงพอ เป็นต้น


ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำ ทั้งวันทำงานปกติและวันหยุด เพื่อให้นาฬิกาชีวิต(Biological clock) ทำงานตลอดเวลา รับแสงให้เพียงพอในตอนเช้า อย่างน้อย 30 นาที ทุกวัน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นการควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญ และการที่ตาได้รับแสงแดดธรรมชาติที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน จะช่วยกระตุ้นจังหวะการหลับการตื่น (sleep cycle) ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code