ปัจจัยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
ปัจจัยภายในร่างกายของเรา ได้แก่ ภูมิคุ้มกัน (immune) ก็มีส่วนสำคัญในการต่อสู้ต้านทานกับโรคภัยไข้เจ็บที่เข้ามารุมเร้า ถ้าภูมิคุ้มกันเข้มแข็งก็สามารถขจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายและควบคุมโรค (เช่นมะเร็ง) ที่กำลังก่อตัวไม่ให้ลุกลามจนเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาได้
แต่ถ้าภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ยกตัวอย่างสุดโต่งก็คือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีถึงขั้นที่เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรงก็จะเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสรุมเร้ามากมาย เช่น วัณโรคปอด ปอดอักเสบจากเชื้อรา เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา โรคเริมหรืองูสวัด เป็นต้น ซึ่งจะไม่ค่อยพบในคนที่แข็งแรง หรือเป็นรุนแรงหรือเรื้อรังกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้มากกว่าคนปกติ
ภูมิคุ้มกัน (ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานของเม็ดเลือดขาวทั้งโดยการสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีและการฆ่าเชื้อโรคโดยตรง) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคและการทุเลาบรรเทาบางเบาของโรค 4 กลุ่มโรค ดังนี้
- โรคติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา
- โรคมะเร็งต่างๆ
- โรคภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ (หวัดภูมิแพ้) โรคหืด ลมพิษ เป็นต้น
- โรคภูมิต้านตนเอง เช่น แผลร้อนใน (แผลแอฟทัสในช่องปาก) โรคปวดข้อรูมาตอยด์ คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น
ภูมิคุ้มกันจะดีหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
1. พันธุกรรม ซึ่งเป็นสิ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิดและแก้ไขไม่ได้
2. อายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ชราอายุมากกว่า 65 ปี มักเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เช่น เป็นหวัด คออักเสบ ปอดอักเสบ ท้องเดิน วัณโรคปอด ผู้สูงอายุยังมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนหนุ่มสาว
เด็กอายุ 6 เดือนแรกยังมีสารภูมิต้านทานโรค (แอนติบอดี) ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากแม่ขณะอยู่ในครรภ์ ปรากฏว่าแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เมื่อพ้น 6 เดือนไปแล้ว สารภูมิต้านทานโรคดังกล่าวได้เสื่อมสลายลง จึงเริ่มเป็นไข้หวัด ท้องเดิน และโรคติดเชื้อต่างๆ
3. อาหาร ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ กากใยอาหาร นมเปรี้ยว (โยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์) มีส่วนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
เด็กที่ขาดอาหาร (เช่นเด็กยากจนกินแต่น้ำข้าวกับนมข้นหวาน) มักจะเป็นไข้หวัด ท้องเสีย ปอดอักเสบบ่อย ในพื้นที่ที่มีภาวะสงคราม ขาดแคลนอาหาร เด็กๆ มักจะเป็นโรคขาดอาหารและเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อพื้นๆ เหล่านี้
ผู้ป่วยมะเร็งในบ้านเราบางคนมีความเชื่อว่าไม่ควรกินอาหารพวกโปรตีน จึงอดจนร่างกายอ่อนแอถูกโรคติดเชื้อรุมเร้าจนเป็นอันตราย
4. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายแต่พอเหมาะจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรง การไม่ออกกำลังกายเลยหรือออกหักโหมเกิน (เรียกว่า overtrain) จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอง่าย
5. นอนหลับพักผ่อน ควรนอนวันละ 6-8 ชั่วโมง การอดนอน นอนน้อย ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
เรามักจะแนะนำผู้ที่เป็นไข้หวัด เจ็บคอ โรคภูมิแพ้ โรคภูมิต้านทานตนเอง ที่กำเริบบ่อยให้นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลิกเหล้า บุหรี่ หาวิธีผ่อนคลายความเครียด ก็มักจะทำให้โรคทุเลาหรือหายขาด
6. อันตราย (สิ่งที่เป็นพิษภัย) เช่น โรคติดเชื้อ (เอดส์ หัด) โรคเบาหวาน รังสี ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษามะเร็ง (เคมีบำบัด) ยาบางชนิด (เช่น ยาสเตียรอยด์ ที่ผสมในยาชุด/ยาลูกกลอน ยารักษาคอพอกเป็นพิษ) สารเคมี (เช่น เบนซิน) เหล้า บุหรี่ มีส่วนทำลายภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอได้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษภัยเหล่านี้ ควรควบคุมโรค (เช่น เบาหวาน โรคติดเชื้อ) ให้ได้ผลเสียแต่แรก รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
7. อารมณ์ (จิตใจ) อารมณ์ดี อารมณ์ขัน การหัวเราะ มีจิตเมตตา ส่งเสริมให้ร่างกายหลั่งสารหลายชนิด (เช่น เอนดอร์ฟินส์) กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง (กล่าวกันว่า การหัวเราะเป็นยาวิเศษ และเมตตาธรรมก็เป็นยาวิเศษ )
ตรงกันข้าม ความเครียด การอมทุกข์ ซึมเศร้า ทำให้ร่างกายหลั่งสารหลายชนิด (เช่น สเตียรอยด์ อะดรีนาลีน) กดภูมิคุ้มกัน ทำให้โรคต่างๆ (เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ โรคภูมิแพ้ แผลร้อนใน คอพอกเป็นพิษ) กำเริบ