ปักษ์ใต้บ้านเรา สานพลัง “สร้างสุข” ไร้ข้อจำกัด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
ตำบลเขาพระบาทในอดีตคือพื้นที่ "จนที่สุด" ในประเทศไทย รวมถึงบ้านดอนโรง หนึ่งชุมชนเล็ก ๆ หมู่ 8 ต.เขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช แห่งนี้ ย่อมมีสภาพแวดล้อมไม่ผิดแผกจากกันมากนัก
"เมื่อก่อนหลังหมดอาชีพทำนา ลูกหลานส่วนใหญ่ก็จะออกไปทำงานรับจ้าง ไม่ก็ทิ้งบ้านไปหางานทำจังหวัดอื่น ปล่อยให้เด็กอยู่กับคนเฒ่าคนแก่ที่บ้าน คนแก่ก็ไม่ทันเด็กเกิดช่องว่ามีปัญหาตามมา ทั้งติดยา ปัญหาครอบครัว" หนูฟอง หนูทอง ผู้รับบทบาทรองประธานกรรมการหมู่บ้านที่ดอนโรง ฉายภาพ
แต่ทุกวันนี้ บ้านดอนโรงเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาเปลี่ยนด้วยความกล้าที่จะก้าวพ้น "ขีดจำกัด" ของตัวเอง จนทำให้บ้านดอนโรงปัจจุบันถูกยกฐานะกลายเป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบแก่หมู่บ้านอื่น ๆ มาศึกษาเป็นแบบอย่าง
"จุดร่วมคือ คนที่นี่เขาอยากสร้างสังคมที่ดี ซึ่งเขาเข้าใจแล้วว่ามันไม่ใช่แค่รายได้ดี แต่ต้องดีทั้ง สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิธีคิด" ยงยุทธ สุขพิทักษ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.เขาพระบาท แชร์ประสบการณ์ทำงานที่ร่วมผลักดันกับพี่น้องบ้านดอนโรงมาเกือบสิบปี
เขาเอ่ยต่อว่า จริง ๆ แล้วชาวบ้านมีความรู้หมด แต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดที่ช่วยปลดล็อก "ความทุกข์" มาเปลี่ยนเป็น "ความสุข" แทนที่
"คือที่ผ่านมาทุกคนทำกระบวนการหมด แต่มันไม่สำเร็จ เราต้องใช้การอบรม มานั่งพูดคุยกัน ร่วมใจกัน หน้าที่หลักของเราคือการเป็นโค้ช แล้วเขาไปขับเคลื่อนกันเอง ทีนี้พอเขาเข้าใจว่าที่ทุกวันนี้สังคมบ้านเรามันวุ่นวาย เพราะรุ่นพ่อแม่ อย่างเราไม่ได้สร้างสิ่งดี ๆ ไว้ ทุกอย่างมันก็เปลี่ยน"
เมื่อปี 2555 ยงยุทธ ชวนแกนนำบ้านดอนโรงเข้าร่วมกระบวนการ โดยใช้กลไกสภาผู้นำชุมชนและแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือปลูกปัญญาพัฒนาคนดอนโรงให้ลุกขึ้นมาจัดทำแผนชุมชน และขับเคลื่อนการทำงานเป็นรูปธรรม ทุกเดือนสภาผู้นำจะเก็บข้อมูล ทำกิจกรรมด้วยกัน ประเมินผลด้วยกันและสำเร็จด้วยกัน
"หลังจัดการคน เราได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มาสามปี ดำเนินการจัดตั้งสภาผู้นำชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนน่าอยู่ การจัดการอาหาร การออกกำลังกาย และจัดการชุมชน"
คนดอนโรงพัฒนาจากสภาพแวดล้อมที่เคยถูกมองว่าไร้ค่า ได้เกิดกลุ่มก้อนทั้งด้านอาชีพที่ส่งเสริมทั้งคุณภาพชีวิตและรายได้เป็นกอบเป็นกำ เปลี่ยนวิถีชีวิต ลด ละ เลิก ใช้เคมีในเกษตรกรรมเปลี่ยนมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง มีกลุ่มเพาะเห็ด ปลูกกล้วย ถักสาน เลี้ยงปลาดุก และนำมาแปรรูปเป็นปลาดุกร้าและแดดเดียวกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชน จนพบว่ารายได้ครัวเรือนของสมาชิกจากการทำอาชีพเสริมด้วยการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 500 บาท ต่อครัวเรือน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 1,500 บาท ต่อครัวเรือน ขณะที่รายได้หลักของครอบครัวเองก็เพิ่มขึ้นตามจาก 52,430.14 บาท ต่อปี เป็น 94,602.79 บาท ต่อปี ทั้งยังลดรายจ่ายได้เกือบ 50%
"วันนี้ลูกหลานส่วนใหญ่ที่เคยออกไปทำงานรับจ้างข้างนอก เราชวนให้เขากลับมาบ้าน มาทำอาชีพกันที่นี่ มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง เราก็บอกเขานะไม่ร่ำไม่รวย แต่พออยู่พอกินกันมีความสุข ที่สำคัญเราเห็นชัดเจนว่าชุมชนมีความสุขมากกว่าแต่ก่อน อยู่กันแบบพี่น้องเครือญาติ ตอนนี้คนอื่นมีปัญหาผลิตผลการเกษตรตกต่ำ แต่เราไม่มีเพราะเรามีของกินอยู่แล้วในชุมชน" หนูฟอง บอกเล่าด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข
เบาหวาน 0% กับตู้เย็น 0 บาท ของบ้านดอนโรง
"ถ้าเศรษฐกิจเขาดีขึ้น เขาก็เริ่มหันมาสนใจดูแลตัวเอง เราเริ่มพัฒนาอาชีพเศรษฐกิจให้มีกินมีใช้ไปพร้อมกับพัฒนาพฤติกรรมด้านสุขภาพด้วยการส่งเสริมให้เขามีกลุ่มอาชีพต่าง ๆ" ยงยุทธ เอ่ยถึงแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะที่เขาเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนควบคู่กับการสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน
การทำงานด้านสุขภาพใช้เวลา 4 ปีแรก อย่างต่อเนื่อง พอปีที่ 5 แนวโน้มด้านสุขภาวะเริ่มเป็นไปในเชิงบวก เพราะจากการสำรวจพบคนเป็นเบาหวานลดลงเหลือเพียง 8 ราย ส่วนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงก็ลดลงตาม จนปัจจุบันบ้านดอนโรง ไม่มีทั้งผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานรายใหม่เท่ากับ 0%
"เรายังสร้างกระบวนการปลูกฝัง ความรักตัวเอง รักชุมชน โดยใช้โครงการชุมชนน่าอยู่และทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำโครงการตู้เย็นข้างบ้าน ทำให้อาหารที่นี่สดใหม่แทบไม่ต้องใช้เครื่องปรุงรส และอาหารมั่นคง" ยงยุทธ เล่า
อีกเครื่องมือสำคัญที่เป็นนวัตกรรมเกิดขึ้นในท้องถิ่น คือ ตู้เย็นราคา 0 บาท เพราะไม่ต้องเสียบปลั๊กเสียค่าไฟ แต่มีอาหารสดใหม่กินได้ตลอดปี ที่มีทั้งแปลงผักอินทรีย์ปลอดภัยไร้สารพิษ รวมถึงปลา เป็ด ไก่ อยู่ข้างบ้านทุกครัวเรือน และกลายเป็นคลังอาหารชุมชน หิวเมื่อไหร่ ก็เดินไปเปิดตู้เย็นได้ทันที
"ในดอนโรงมีประมาณ 202 ครัวเรือน ซึ่งแปลว่าเรามีตู้เย็น 202 เครื่อง นอกจากนี้ยังมีตู้เย็นขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ ในพื้นที่ชุมชนอีกเป็นสิบตู้ ทุกวันนี้คนดอนโรงจึงมีความสุข เพราะมันเลยไปถึงการแก้ปัญหาความร้าวฉานในครอบครัว ปัญหาวัยรุ่นยาเสพติดก็ลดลง แต่กว่าจะลดได้มันก็ใช้เวลาเกือบสิบปี"
'โนราบิค' นวัตกรรมลดโรค คนป่าไหม้
"บ้านป่าไหม้" ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีกชุมชนที่เดิมมีปัญหาไม่แตกต่างจากใคร ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน และมีปัญหาสุขภาวะไม่น้อย คนป่าไหม้ประสบภาวะเป็นโรค NCDs มากมาย แต่ช่วงไม่กี่ปีก่อนมีแกนนำคนใน 20 ชีวิต ที่รวมตัวกันลุกขึ้นมาขับเคลื่อน "ชุมชนน่าอยู่บ้านป่าไหม้" โดยหวังเพิ่มรายได้ แต่ที่สำคัญคือต้อง สร้างสุขภาพคนในชุมชนให้ดีขึ้น
"เรามองหาต้นทุน มองหากลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเพื่อสร้างรายได้เสริม อาทิ ผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ด้วงสาคู เพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชน โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ที่วันนี้มีคณะทำงานช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นชัดเลย คือเริ่มมีรายได้เสริม" ปาลีรัตน์ สุภาผล ทีมสนับสนุนวิชาการโครงการชุมชนน่าอยู่บ้านป่าไหม้ เล่า
ทั้งชาวบ้านและผู้นำชุมชนในป่าไหม้ทำงานร่วมกัน รวมถึงหน่วยงานในภาคท้องถิ่นช่วยหนุนเสริม โดยมีการนำข้อมูลมาใช้ มีเกณฑ์ในการบอกถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จในการพัฒนาได้อย่างชัดเจน ด้านการส่งเสริมเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
"ในด้านสุขภาพ เราได้งบประมาณจาก สสส. มาสามปีต่อเนื่อง เรานำมาจัดส่งเสริมจัดทำกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จัดกิจกรรมด้านสุขภาพและออกกำลังกาย โดยนำนวัตกรรมสุขภาพ 4 ลด เพิ่ม 1 คือการลดหวาน มัน เค็ม ผงชูรส และเพิ่มผัก นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้ คือ 3 อ. ซึ่งต่อมาทำให้เกิดนวัตกรรมหนึ่งอย่างจากการรวมตัวกัน คือ การจัดตั้งกลุ่มออกกำลังกาย และนำมาสู่นวัตกรรมโนราบิค"
โนราบิค คือการประยุกต์ใช้วัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ ตามแนวคิด " ขยับเท่ากับลดโรค" โดย ได้รับความร่วมมือจากรพ.สต.โคกพึงในการประเมินสุขภาพก่อนการออกกำลังกาย
ชไมพร ชื่นใจ หนึ่งในแกนนำและผู้ออกแบบ "โนราบิค" เอ่ยเล่าที่มานวัตกรรมชุมชนที่เธอมีส่วนในการช่วยคิด
"ตอนแรกเราก็มีปัญหาสุขภาพ คือเป็นเบาหวาน แล้วเขาชวนเราไปเต้นที่อื่น พอเราไปเต้นแล้วก็รู้สึกว่าดีต่อสุขภาพ จึงคิดว่าต้องกลับมาชวนคนที่หมู่บ้านออกกำลังกายบ้าง เลยตั้งกลุ่มรวมตัวกัน"
ชไมพรบอกว่า อยากนำวัฒนธรรมของชุมชนมาใช้ จึงนำท่าโนราห์มาดัดแปลงให้เป็นท่าเต้นสนุกสนาน โดยผลจากการออกกำลังกายต่อเนื่อง ตัวเธอนั้นสุขภาพดีขึ้นในทันที
"เราจัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องสามเดือนกว่าแทบไม่ต้องกินยาเบาหวาน ไม่ต้องฉีดอินซูลินแล้ว ค่าน้ำตาลลดจาก 200 กว่าเหลือ 100 กว่า สองสุขภาพดีขึ้น ทุกคนน้ำหนักลดลงหมด เพื่อนในชุมชนอีกคนลดไปถึง 5 กิโลกรัม" ชไมพร บอกเล่า
ก้าวข้ามขีดจำกัด
"ป่าไหม้ทำตรงนี้ได้ดี เพราะเขาทำโครงการต่อเนื่องและต่อยอดตลอดสามปี ปีแรก-ปีสองลดพุง ปีสามเริ่มมีนวัตกรรม โนราบิค ซึ่งเราเห็นว่าสภาผู้นำชุมชนเป็นกลไกขับเคลื่อน สร้างภาคีในพื้นที่ที่เข้มแข็ง สสส.เชื่อว่า คนในพื้นที่รู้ดีกว่าเรา เราจึงมีหน้าที่แค่หนุนเสริมเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้เขาเท่านั้น" ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วิเคราะห์ความสำเร็จของป่าไหม้
"ดอนโรง" และ "ป่าไหม้" คือสองต้นแบบพื้นที่ที่สะท้อนถึงความสำเร็จวิธีการสร้างสุขภาวะจากความเข้มแข็งของคน ในชุมชน
"เราดูความสำเร็จจากการที่เขาดึงประเด็น มาสร้างการมีส่วนร่วม ความสำเร็จของหลายพื้นที่จะพบว่ามีกลไกสำคัญคือ แกนนำ มีการจัดการ มีการขับเคลื่อนเป็นยุทธศาสตร์ นอกจากนี้การมีพันธมิตรที่เป็นฝ่ายวิชาการร่วมทำงาน ซึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กับพื้นที่ ถือเป็นกลไกหนุนเสริมภาคประชาสังคม"
ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวต่อว่า การทำงานหนุนเสริมพื้นที่ตำบลสุขภาวะของ สสส. ที่ผ่านมา ทำให้ได้พบว่า หากแต่ละพื้นที่ มีภาคีทำงานรวมตัวอย่างเข้มแข็งนำไปสู่การแก้ปัญหาประเด็นต่าง ๆ และกลายเป็นต้นแบบที่ทำให้ภาคอื่นนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพราะในประเทศไทยยังมีหมู่บ้านอีกมากที่สภาพเบื้องต้นเป็นเหมือนสองพื้นที่ ดังนั้นโจทย์คือจะทำอย่างไรให้รูปแบบการจัดการนี้ขยายผลไปทั่วทุกประเทศ
"จริง ๆ เรามีภาคีทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ละพื้นที่มีประเด็นปัญหาคล้ายคลึงกัน แต่ภาคใต้เป็นอีกหนึ่งภาคที่เขาเริ่มมาก่อนและมีความเข้มแข็ง ซึ่งหากภาคใต้นำร่องต้นแบบเพื่อขับเคลื่อนได้ อาจนำไปใช้ในภาคอื่น ๆ ที่อาจไม่ต้อง ใช้เวลา 10 กว่าปีเหมือนภาคใต้" ดร.ณัฐพันธุ์ เอ่ยทิ้งท้าย