ปศุสัตว์ออกประกาศ คุมอาหารสัตว์ที่ผสมยา
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
ปศุสัตว์ออกประกาศ6ฉบับ คุมอาหารสัตว์ที่ผสมยา ตั้งเป้าลดการใช้ยาต้านจุลชีพลง 30%
นายสัตวแพทย์ (น.สพ.) สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดลักษณะเงื่อนไขของอาหารสัตว์ที่ผสมยา ที่ห้ามผลิต นำเข้า ขาย และใช้ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นกฎหมายเพื่อกำกับดูแลอาหารสัตว์ที่ผสมยา (Medicated feed) ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ซึ่งรับผิดชอบโดยกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่เป็นมาตรฐานสากล มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากหากคนบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ที่มียาต้านจุลชีพตกค้างจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดื้อยาต้านจุลชีพ
น.สพ.สมชวน กล่าวอีกว่า กรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศกรมปศุสัตว์ 6 ฉบับ ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯข้างต้น โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์จะผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาได้ ต้องจดแจ้งต่อกรมปศุสัตว์ อีกทั้งต้องเป็นโรงงานที่ได้รับการรับรอง GMP (Good Manufacturing Practice) มีสัตวแพทย์ที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง และต้องได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับอาหารสัตว์ที่ผสมยาจากกรมปศุสัตว์ดูแล
สัตวแพทย์ต้องควบคุมกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยา เช่น ผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาตามใบสั่งใช้ยาจากสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มที่เป็นผู้ดูแลสุขภาพสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และต้องลงลายมือชื่อในหลักฐานการสั่งซื้อยาต่างๆ เพื่อจะนำอาหารสัตว์ที่ผสมยาเหล่านั้นไปใช้ เพื่อดูแลและรักษาสัตว์ในฟาร์ม โรงงานผลิตอาหารสัตว์จะต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาด้วย
นอกจากนี้ จะต้องมีการติดฉลากเพื่อให้ทราบว่าเป็น “อาหารสัตว์ที่ผสมยา” โดยต้องระบุชื่อและปริมาณของยาที่ผสมในอาหารสัตว์นั้นด้วย ต้องมีการจัดทำสรุปรายงานปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพชนิดต่างๆ ในแต่ละปีที่นำมาผสมในอาหารสัตว์ต่อกรมปศุสัตว์ด้วย
ขณะเดียวกัน ยาต้านจุลชีพหรือที่เรียกทั่วไปว่ายาปฏิชีวนะ ใช้รักษาโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งต้องมีการควบคุมการสั่งใช้ โดยสัตวแพทย์ต้องใช้ยาในภาคปศุสัตว์มีความถูกต้องเหมาะสม
น.สพ.สมชวน กล่าวอีกว่า หลังจากกฎหมายมีผลบังคับ ขณะนี้มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์มาขอรับจดแจ้งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาแล้วกว่า 50 ราย ซึ่งกรมปศุสัตว์จะกำกับดูแลโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาให้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากยาตกค้างในผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ เพื่อป้องกันภาวะดื้อยาปฏิชีวนะในคนซึ่งจะส่งผลให้เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะรักษาหายยาก
ทั้งนี้ มีเป้าหมายลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลงร้อยละ 30 ในปี 2564 ตามแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยในภาคการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์