ปศุสัตว์สั่งสกัดอหิวาต์หมู ใช้โมเดลไข้หวัดนก
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
ปศุสัตว์ถกหน่วยงาน-คนเลี้ยงวางมาตรการสกัดอหิวาต์หมูเข้าไทย เล็งใช้โมเดลไข้หวัดนก ประสานสิบทิศช่องทางบก น้ำ อากาศตรวจเข้มผลิตภัณฑ์หมูทุกอย่างที่มาจากจีน แม้กระทั่งเศษอาหารบนเครื่องต้องกำจัดไม่นำมาเลี้ยงสัตว์ ทำบัฟเฟอร์โซนกับเพื่อนบ้านปิดช่องระบาดอาเซียน เผยเชื้อแรง ฟักตัว ระบาดเร็วแค่ 1 อาทิตย์ ย้ำเกษตรกรเฝ้าระวังพบหมูในฟาร์มอาการผิดปกติแจ้งปศุสัตว์พื้นที่มาตรวจทันที
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคนี้ยังไม่เคยพบในไทย แต่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากไทยมีช่องทางและพื้นที่เสี่ยงของเชื้อโรคเข้ามาได้เร็วที่สุดคือ สนามบินนานาชาติทุกแห่งของประเทศ และพื้นที่ตลอดแนวชายแดนภาคเหนือ อีสาน ซึ่งตนออกประกาศมาตรการห้ามนำซากสัตว์ ชื้นส่วนสัตว์ ผลิตภัณท์สุกร ห้ามนำเข้าจากจีนเป็นเวลา 90 วันแล้ว โดยจะสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน จึงจะเสนอร่างออกกฎกระทรวงให้นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ลงนาม ห้ามนำเข้าซากสัตว์สุกรและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องทุกชนิดจากจีน เพื่อปิดช่องโหว่ทั้งหมด
นอกจากนี้ วันเดียวกัน ได้ทำหนังสือถึงบริษัทท่าอากาศไทย การบินไทย กระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะหน่วยปฎิบัติการแม่น้ำโขง บูรณาการป้องกันโรค เน้นถอดบทเรียน เส้นทางโรคที่เคยเกิดโรคระบาดในจีนจะเข้าไทยทางใดบ้าง ประสานเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม เมียนมา ลาว กัมพูชา ทำงานเป็นบัฟเฟอร์โซน หยุดการระบาดไว้ที่จีน ไม่ให้โรคเข้ามาในอาเซียน
“จะปิดช่องโหว่ทั้งหมด แม้กระทั่งเศษอาหารจากเครื่องบินเข้าไทยที่ต้นทางมาจากจีน ต้องหาเจ้าภาพจัดการไม่ให้นำไปเลี้ยงสุกร พร้อมประสานกระทรวงพาณิชย์ ไปตรวจสอบโกดังห้องเย็นต่างๆมีผลิตภัณฑ์สุกรจากจีนหรือไม่ ที่ต้องจับตาเข้มข้น เพราะเชื้อไวรัสนี้กระจายได้หลายช่องทาง เชื้อทนทานในสิ่งแวดล้อม แค่เสื้อผ้าติดสารคัดหลั่ง อาหาร เข้ามาไทยแค่ 1 สัปดาห์จะระบาดเร็ว การฟักตัวเร็วมาก เราจึงต้องควบคุมก่อน พร้อมวางมาตรการล่วงหน้าจะป้องกันอย่างไร ถ้าพบสุกรติดโรคต้องทำลายโดยการฝังกลบทั้งหมด” นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าว
และย้ำว่า ถ้าเกิดโรคที่ใดสังเกตจาก ถ้าสุกรทั้งฝูงป่วยตาย 30% หรือมีอาการต้องสงสัยคือ ผิวหนังเป็นจ้ำแดงสีม่วง ให้สงสัยติดโรคนี้ไว้ก่อน โดยผู้เลี้ยงต้องเฝ้าระวังรีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อให้เข้าตรวจสอบโรค ซึ่งจะใช้มาตรการเดียวกับการควบคุมโรคไข้หวัดนก อีกทั้ง ยังวางมาตรการเยียวยาชดเชยเกษตรกรไว้ด้ว การเฝ้าระวังโรคคือ รู้โรคเร็ว สงบเร็ว ปิดช่องทางเสี่ยง โดยกำชับด่านปศุสัตว์ไปประจำทุกพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะสนามบิน มีสุนัขดมกลิ่น ตรวจละเอียดมากขึ้น