ปลูกเมล็ดพันธุ์วัยซนคิดเป็น-ทำได้-ขายเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเทร์เน็ต
โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน ปีที่ 3 หนึ่งในกิจกรรมของโครงการสามพรานโมเดล ที่ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ให้ทุนสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จำนวน 10 โรงเรียน จัดกิจกรรมอบรมบ่มเพาะเยาวชนให้มีทักษะชีวิต ฝึกความเป็นนักธุรกิจน้อยตั้งแต่วัยเยาว์ สามารถคิดเป็น ทำได้ และขายเอง ผ่านการเรียนรู้ลงมือปฏิบัติในแปลงเกษตรอินทรีย์
"สิ่งที่เข้าไปสอนครูไม่ใช่การปลูกผักแต่เป็นวิธีคิดเรื่องการปลูกคน" โจทย์ท้าทายสำหรับ ดร.วิภาวรรณ ตินนังวัฒนะ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการ ผู้รับหน้าที่ "โค้ช" หรือพี่เลี้ยงให้กับครู
อาจารย์วิภาวรรณเล่าย้อนเกี่ยวกับโครงการให้ฟังว่า แต่ละปีจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีความพร้อมส่งโครงการเข้ามา และ 10 โรงเรียนที่ผ่านการพิจารณา จะได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. ผ่านมูลนิธิสังคมสุขใจ โดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำครู หลักๆ เข้าไปช่วยปรับวิธีคิด แนะนำครูให้มีการพัฒนาโมเดลหรือรูปแบบการสอนเป็นของตัวเอง เน้นจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
3 ปีที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ อาจารย์วิภาวรรณบอกว่า สิ่งที่เราสัมผัสได้ เด็กมีพัฒนาการในการนำเสนอ ทั้งการพูด การฟัง การคิด และการสื่อสาร รวมทั้งทักษะการแก้ปัญหา และการแสวงหาความรู้ไม่ได้มาจากครูหรือการปฏิบัติอย่างเดียว แต่มาจากการสังเกตสิ่งที่พบเจอในแปลงเกษตร ขณะเดียวกันชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมช่วยสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ เช่น เลี้ยงกบ ทำปุ๋ย ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของโครงการนี้ที่เน้นการปลูกคน ไม่ใช่ปลูกผักให้เป็นอย่างเดียว
ด.ญ.อริสรา อรุณรัตน์ หรือ น้องพรีมนักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนวัดจินดาราม สนใจเรื่องการทำเกษตรจึงสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกชมรมเกษตรอินทรีย์ของโรงเรียน น้องพรีมเล่าว่า "เวลาลงแปลงปลูกผักต่างๆ ก็สามารถนำไปปลูกได้เองที่บ้าน เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า มะเขือเทศ โดยทำเป็นแปลงเล็กๆ ใช้เนื้อที่น้อย เมื่อออกผลผลิตก็เก็บไว้กินภายในบ้าน ยิ่งเราไม่ใช้สารเคมีก็ยิ่งได้กินผักอย่างมีความสุข เพราะปุ๋ยก็หมักเองจากเศษใบไม้ มะนาวมะกรูดก็เอามาทำเป็นน้ำยาล้างจาน"
ขณะที่ น้องกิ๊บ ด.ญ.ชลธิชา บุญเฉลิม นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านคลองใหม่ บอกว่าเข้าโครงการนี้ตั้งแต่อยู่ชั้นป.3 มีความสุขที่ได้ทำเกษตร ได้อยู่กับธรรมชาติ สนุกที่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ครูไม่ได้สอนให้หนูปลูกผักเป็นอย่างเดียว แต่ครูสอนให้พวกหนูเป็นแม่ค้า วันเสาร์-อาทิตย์ พาออกไปขายผักที่ตลาดสุขใจ สอนให้รู้จักบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้เราเห็นคุณค่าของเงิน การได้พบปะลูกค้าทำให้เรากล้าพูดและรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เพื่อให้เด็กๆ โชว์ความสามารถ ใช้ความรู้ ทักษะความคิด รวมถึงเทคนิคการขาย ที่คุณครูบ่มเพาะมาตลอดระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา มูลนิธิสังคมสุขใจเปิดพื้นที่ให้กับทั้ง 10 โรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมในงาน "วันสังคมสุขใจ" ปีที่ 3 ที่สวนสามพราน เพื่อใช้เป็นเวทีนำเสนอผลงาน และออกร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตกันเองในโรงเรียน
ปีนี้แต่ละโรงเรียนต่างเตรียมการกันอย่างคึกคัก หวังโชว์ผลงานเด็ด เช่น โรงเรียนบ้านเพลินวัฒนา เตรียมเมนูอินทรีย์วิถีอาเซียนรสแซ่บมาจำหน่าย โรงเรียนวัดจินดารามขนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดหลากชนิดที่เพาะเองทำเองมาขายเอง เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านดงเกตุ ที่มีทั้งผักสด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดและน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
ขณะที่โรงเรียนบ้านคลองใหม่จัดเต็มเมนูส้มตำอินทรีย์เลิศรส น้ำสมุนไพรหลากชนิด ขนมไทยต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นฝีมือนักเรียนทั้งสิ้น ส่วนโรงเรียนวัดสรรเพชญโชว์ปลูกผักวอเตอร์เครสในขวด พร้อมจำหน่ายปุ๋ยมูลไส้เดือนรวมถึงชีวภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่เด็กนักเรียนชั้น ป.1 พร้อมใจกันมานำเสนอ นอกจากนี้ยังมีการประกวดนำเสนอผลงานบนเวที ชิงทุนการศึกษา 10,000 บาท
"สิ่งที่จะได้เห็นในงาน นอกจากได้ชม-ช็อป-ชิมสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เด็กๆ ผลิตกันเอง ยังจะได้เห็นเทคนิคการขายของเด็กนักเรียนที่จะทำให้ทุกคนต้องควักเงินออกจากกระเป๋าจ่ายให้กับความน่ารักของพวกเขา ถือเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการทำงานเป็นทีม มีวินัยมีความรับผิดชอบ นี่แหละคือผลลัพธ์ในแปลงเกษตรที่ต้องได้มากกว่าผัก นั่นคือการปลูกฝังคน"อาจารย์วิภาวรรณกล่าวทิ้งท้าย
เชิญร่วมงาน "ตามรอยพระบาท สัมผัสวิถีเกษตรพอเพียง" ในงานสังคมสุขใจ วันที่ 16-18 ธันวาคม 2559 เข้างานฟรี ที่สวนสามพราน จ.นครปฐม สอบถามโทร. 08-4670-0930