ปลูกฝังวินัยจราจร เรื่องที่ไม่ควรมองข้ามในวัยเด็ก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
มีข้อมูลที่สำคัญจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า อุบัติเหตุทางถนนคือเหตุฉุกเฉินที่เกิดกับเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี สูงสุดเป็นอันดับแรก โดยแต่ละปีมีผู้ประสบเหตุเกือบ 320,000 ราย ซึ่งสาเหตุของอุบัติเหตุ เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่เคารพกฎจราจร เป็นต้น
ขณะที่การสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ เมื่อปี 2559 พบข้อมูลที่น่าตระหนกว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยของเด็กและวัยรุ่นอยู่ที่ 8 และ 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งนอกจากนี้ยังรวมถึงความเสี่ยงช่วงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า คือช่วงปิดเทอม เพราะเด็กจะมีโอกาสในการโดยสารรถจักรยานยนต์กับผู้ปกครองหรือญาติๆ มากขึ้น ฉะนั้นความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุก็จะเพิ่มมากขึ้นตามมาเช่นกัน
ทางเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงเห็นว่าการสร้างจิตสำนึกใช้ถนนอย่างปลอดภัยคือกุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน โดยจะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ระดับเยาวชน และอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อให้การรณรงค์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างทั่วประเทศ จึงได้จัดทำโครงการ ชวนเด็กไทยสร้างวินัยจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทั้งนี้ เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้กับเด็ก อันเป็นแนวทางที่สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างยั่งยืน และกระตุ้นการมีจิตสำนึกถึงอุบัติเหตุทางถนน โดยเริ่มจากการรู้จักสวมหมวกนิรภัยเมื่อต้องซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ รวมทั้งเป็นการปกป้องเด็กจากอุบัติเหตุทางถนน โดยการสร้างจิตสำนึกใช้ถนนอย่างปลอดภัย
โดยจัดกิจกรรมอบรมและการฝึกการทดลอง มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 5 โรงเรียน ซึ่งมีการให้ความรู้เรื่องการสวมหมวกนิรภัย การข้ามทางม้าลายและการรู้จักป้ายจราจร ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญคือ การปลูกฝัง ส่งเสริมความปลอดภัยในเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องวินัยจราจร ที่จะเป็นเกราะป้องกันตัว และเพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยในเด็ก การดูแลตนเองขณะใช้ชีวิตบนถนน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้น
ขณะที่กระบวนการอบรม เนื้อหา ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน เพื่อสร้างความประทับใจ และนำไปสู่การจดจำเรียนรู้สำหรับเด็กในวัยขนาดนี้ หนึ่งในวิทยากรสำคัญที่ได้เข้ามาดำเนินกิจกรรมให้ความรู้สำหรับเด็กๆ อย่าง ดาบตำรวจกุญชร แสวงดี สังกัดงานสายตรวจ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร ระบุว่า กิจกรรมที่เข้ามาให้ความรู้กับเด็ก ต้องเป็นกิจกรรมที่สนุกและสร้างสรรค์สอดแทรกความรู้ไปด้วย เพื่อสร้างความตระหนักให้เด็กเคารพกฎจราจร มีน้ำใจแบ่งปัน เช่น เมื่อมีรถพยาบาลมาก็ควรให้ทาง หรือข้ามถนนต้องข้ามทางม้าลาย ใช้รถในซอยก็ต้องมีการแบ่งปันให้ทางกัน อุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น
"โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการสวมหมวกกันน็อก ซึ่งส่วนใหญ่เวลานั่งรถมอเตอร์ไซค์กันมาเราจะเห็นผู้ใหญ่ พ่อแม่เด็กเป็นคนสวม แต่เด็กไม่ค่อยได้สวม ซึ่งเราจะมีกิจกรรมให้เขาเห็นถึงความแตกต่างระหว่างสวมกับไม่สวม โดยเปรียบเทียบกับแตงโม ถ้าเด็กๆ ไม่สวมหมวกกันน็อก เมื่อเกิดอุบัติเหตุศีรษะอาจจะแตกเหมือนแตงโม เมื่อโยนแตงโมตกพื้น ซึ่งเด็กชอบกิจกรรมแบบนี้ ที่เป็นรูปธรรมเปรียบเทียบให้เขาเห็นชัดเจน เขาจะจดจำด้วย โดยเด็กๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมากกับกิจกรรมที่เรานำมาแสดงในแต่ละฐานและกระตือรือร้นในการเข้ามามีส่วนร่วม"
ในฐานะตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง ดาบตำรวจกุญชรระบุว่า การปลูกฝัง ความเข้าใจ ความตระหนัก ให้เด็กเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษา ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ดีที่เด็กๆ เยาวชนสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันและนำไปใช้ได้จริงต่อชีวิต เนื่องจากพวกเขาต้องเดินทางมาโรงเรียนทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ซึ่งนับเป็นการใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนที่ต้องเผชิญเหตุไม่คาดคิดต่างๆ
เมื่อเด็กได้เรียนรู้ เขาจะรักษากฎจราจร เคารพกฎหมาย ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญที่เขาจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในวันข้างหน้า และวัยอายุขนาดนี้ถือว่าเหมาะสมในการปลูกฝังระเบียบวินัยจราจร เพราะเขาจะจดจำ เมื่อเขาเห็นเหตุการณ์อุบัติเหตุ หรือพฤติกรรมต่างๆ ในการใช้รถใช้ถนน เด็กจะไม่โกหก เขาจะบอกผู้ใหญ่ ว่าทำไมไม่สวมหมวกกันน็อก เขาจะกลัวอุบัติเหตุและทำให้ระมัดระวังมากขึ้น และจดจำสิ่งเหล่านั้นไปใช้ ไปบอกพ่อแม่ ทักท้วงพ่อแม่หากทำอะไรที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากในการนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และเพิ่มความระมัดระวังทำให้ปลอดภัยได้มากขึ้น และสิ่งเหล่านี้ พฤติกรรมตระหนักความปลอดภัยเหล่านี้จะติดตัวเขาไปจนก้าวไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ หรือวัยที่โตขึ้น