ปลูกฝังการกิน `ผัก ผลไม้` แนวใหม่ให้เด็ก
หากเป็นขนม เด็กๆ คงกินอย่างอร่อย แต่ถ้าเป็น “ผัก” คือของแสลงดีๆ ที่เด็กๆ มักจะเบ้หน้าทุกครั้งเมื่อเห็น หากอยู่ในจานอาหาร ก็จะเขี่ยทิ้งอย่างไม่ใยดี และหากรู้ว่ากับข้าวที่จะทาน เป็นผัก ก็มักจะหลบเลี่ยงทุกครั้งไป
นิสัยการกินที่ไม่ชอบผักไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กในเมืองเท่านั้น แม้กระทั่งที่ไม่ได้อยู่ในเขตเมืองซึ่งเรามักเข้าใจผิดคิดว่า อยู่กับธรรมชาติ เต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า อยู่กับพ่อแม่ที่มีอาชีพทำการเกษตร ย่อมไม่ปฏิเสธผักเหมือนเด็กในเขตเมือง แต่ปรากฏว่าเด็กๆ ไม่ชอบผักเหมือนๆ กัน
เหตุนี้ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมมือกับมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EFD) ทำโครงการ “เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้” เพื่อกระตุ้นให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนกินผักผลไม้ ขณะเดียวกันกันก็เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมเสริม เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตอีกด้วย
จารุวัฒน์ บุษมลาลี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการ มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) ในฐานะหัวหน้าโครงการ “เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้” เล่าว่า อีกวัตถุประสงค์หนึ่ง ก็เพื่อสนับสนุนนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ของ สสส. ในเรื่องอาหารปลอดภัยในโรงเรียน ถูกต้องตามโภชนาการ เพื่อให้ได้รับสารอาหารและวิตามินที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมอง ซึ่งมีเป้าหมาย 10 ปีในการเพิ่มอัตราการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ 400 กรัมหรือ 12 ช้อนโต๊ะต่อวัน
โครงการ “เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้” เริ่มนำร่องใน 88 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสในเขตพื้นที่การประถมศึกษา 7 จังหวัดได้แก่ สกลนคร อุดรธานี เลย ยโสธร อุบลราชธานี สุรินทร์ และบุรีรัมย์ โดยรูปแบบในการทำโครงการนั้น หัวหน้าโครงการ อธิบายว่า จะให้โรงเรียนแต่ละแห่งคิดโครงการขึ้นมา หรือหากโรงเรียนไหนมีโครงการที่ดีๆ และใกล้เคียงเป็นสิ่งที่เคยทำมาก่อน ก็ให้เสริมเข้าไปในโครงการภายใต้แนวคิด “เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้” ซึ่งกิจกรรมของโครงการครอบคลุมไปด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินผักผลไม้ การสร้างศักยภาพกลุ่มแกนนำตัวอย่าง การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อการกินผักผลไม้ และสามารถสร้างแกนนำผู้ปกครองและชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตผักผลไม้ปลอดสารพิษให้โรงเรียน
ส่วนวิธีการดำเนินงานนั้น ทางโครงการเท่กินผักฯ ให้ครูเป็นพี่เลี้ยงในการออกแบบกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้เท่านั้น ที่เหลือจะให้นักเรียนทำ เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยในปีแรกของโครงการจะเน้นที่อาหารกลางวัน เพื่อให้เด็กนำความรู้เรื่องโภชนาการไปบอกต่อกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ส่วนปีที่ก็จะขยายไปสู่ชุมชน ส่วนปีที่ 2 นักเรียนจะเริ่มกินผักและผลไม้มากขึ้น และปีที่ 3 ขยายสู่ครอบครัวของนักเรียนและชุมชน
ทางด้าน เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์และนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า “เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้” ชื่อโครงการชัดเจน อยู่แล้วว่า เราสนับสนุนให้เด็กกินผักและผลไม้ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต ในส่วนของเด็กที่กินผักและผลไม้อยู่แล้ว เราก็เพิ่มความรู้เรื่องของคุณค่าทางโภชนาการเข้าไปเสริม ส่วนเด็กที่ไม่ชอบกินเราก็มุ่งหวังให้โครงการนี้ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้กินผักและผลไม้มากขึ้น ความคาดหวังของชุดโครงการนี้ ก็เพื่อมุ่งหวังให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการบรูณาการเรียนรู้ในโรงเรียน และโครงการมีความยั่งยืนต่อๆ ไป
“หากโครงการเท่กินผัก น่ารักกินผลไม้” ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสาน ประสบความสำเร็จ ก็อาจจะมีการขยายผลของโครงการไปยังพื้นที่ภาคอื่นๆ อย่างไรก็ดีทาง สสส. ก็มีโครงการที่สนับสนุนโรงเรียนเรียนทั่วประเทศอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นโครงการที่แนวคิดใกล้เคียงกัน หรือเป็นประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องอาหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็แล้วแต่โรงเรียนว่าจะเลือกทำโครงการประเด็นใด” เพ็ญพรรณ กล่าว
อย่างที่โรงเรียนบ้านห้วยหีบวิทยาธาร ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนรวมกันทั้งหมด 281 คน ครู 16 คน
ก่อนจะทำโครงการ ทางโรงเรียนบ้านห้วยหีบ วิทยาธาร ได้ทำการสำรวจด้านภาวะอาหารและโภชนาการของนักเรียน พบว่า นักเรียนบริโภคผักเป็นประจำร้อยละ 37.40 บริโภคเป็นครั้งคราวร้อยละ 61.10 ส่วนไม่บริโภคเลยมีร้อยละ 1.44 นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กนักเรียนบริโภคน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมเป็นประจำมากถึงร้อยละ 8.63 และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดโรคในช่องปาก มีปัญหาโรคเรื้อรังรุมเร้าตั้งแต่อายุ ยังน้อย ซึ่งแสดงว่านักเรียนยังมีปัญหาในการเลือกรับประทานอาหาร จนส่งผลต่อสุขภาพของตัวเอง
เพ็ญแข นาถโกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยหีบวิทยาธาร ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร เปิดเผยว่า เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการเท่กินผักฯ ก็เพื่อให้นักเรียน ครู แม่ครัว สมาชิกในชุมชน เกิดความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลประโยชน์ของการกินผักผลไม้ เพราะทุกวันนี้กระแสบริโภคนิยมรุมเร้า สื่อมีอิทธิพลเข้าไปกระตุ้น ความอยากในอาหารประเภทอื่น เช่น บะหมี่สำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ขณะเดียวกันครอบครัวในชุมชน ก็ปลูกผักน้อยลง เด็กๆ อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายจึงไม่ค่อยปรุงอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบให้รับประทาน โอกาสกินผักจึงน้อยลง
การดำเนินโครงการ “เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้” ของโรงเรียนบ้านห้วยหีบวิทยาธารจึงมุ่งเน้นสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กได้มีโอกาสรับประทานผักให้มากขึ้น เช่น กิจกรรมบ้านน่าอยู่เมนูผักปลอดสาร กิจกรรมเพาะเห็ดนางฟ้า กิจกรรมเพาะถั่วงอกเพื่อสุขภาพ กิจกรรมเลี้ยงปลาดุก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพัฒนาเมนูผักผลไม้ และแม่ครัว ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องภายในโรงเรียน ได้แก่ กิจกรรมเที่ยงวันฉันมีสุข ให้นักเรียนและแม่ครัวร่วมกันจัดทำเมนูอาหารกลางวันให้มีความหลากหลาย มีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบสำคัญ แล้วนำมาปรุงให้ถูกสุขอนามัย, กิจกรรมสเปเชี่ยล เดย์ จัดให้มีในทุกวันศุกร์แรกของเดือน นักเรียนจะทานผักและผลไม้ร่วมกับคุณครู บางครั้งก็มี ผู้ปกครองมาร่วมด้วย มีการประกวดเมนูอาหารผัก พร้อมกับการเสวนาให้ความรู้เกี่ยวโภชนาการด้วย
“เราต้องการให้ทุกกิจกรรมที่จัดมีความยั่งยืน จึงบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย เช่น วิชาการเพาะเห็ดอย่างง่าย เป็นวิชาในกลุ่มสาระเพิ่มเติมการอาชีพ โดยระดับชั้น ม.1 จะเรียนทฤษฎี และการเพาะเห็ด พอขึ้น ม.2 จะเรียนการปลูกพืช ส่วน ม.3 จะเรียนการแปรรูปเห็ด เป็นต้น” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยหีบ วิทยาธาร กล่าว
การแปรรูปเห็ดนางฟ้าของโรงเรียนบ้านห้วยหีบวิทยาธาร ได้รับการยอมรับอย่างสูง เพราะสามารถนำเห็ดมาแปรรูปเป็นอาหารนานาชนิดได้ถึง 23 เมนู ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งในการ บูรณาการความรู้ เข้ากับการพัฒนาทักษะชีวิตให้กับนักเรียน ซึ่งหากเรียนจบไปแล้ว ไม่มีโอกาสเรียนต่อ ก็ยังสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ การที่โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของชุมชน ก็ยังสามารถส่งต่อความรู้และประสบการณ์จากการเพาะเห็ดสู่ชุมชนด้วย
ด.ญ.กัณฐาภรณ์ เมชบุตร หรือ น้องแพ็คกี้ ชั้น ม.3 เป็นนักเรียนแกนนำในโครงการ “เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้” ของโรงเรียนบ้านห้วยหีบวิทยาธาร และเป็นคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญเรื่องเห็ด น้องแพ็คกี้ เล่าว่า ตอนเด็กมากๆ ก็ไม่ชอบกินผัก เพราะมี กลิ่นเหม็น รสชาติแย่ โดยเฉพาะผักชะอม ผักกระเฉด สะเดา เธอจะไม่กินเลย
จนกระทั่งน้องแพ็คกี้ขึ้นชั้นป.5 และเริ่มทำกิจกรรมกับโรงเรียน เกี่ยวกับการปลูกผักเพื่ออาหารกลางวัน เธอจึงเริ่มทานผัก และเห็นประโยชน์ของผักมากขึ้น จนกระทั่งทุกวันนี้ น้องแพ็คกี้เป็นแกนนำนักเรียนทำโครงงานเกี่ยวกับการแปรรูปเห็ด จนได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้ว
“ในแต่ละวัน หนูก็จัดเสียงตามสาย บอกถึงประโยชน์ของผักและผลไม้ รวมถึงแนะนำเคล็ดลับง่ายๆ อย่างการกินผลไม้ ควรกินตอนท้องว่าง และมีสัดส่วนพอดีๆ เช่น แตงโมควรกินชิ้นพอคำ 12-14 ชิ้น องุ่น 16 ผล หรือกล้วยน้ำว้าไม่เกิน 2 ลูกต่อวัน” น้องแพ็คกี้ บอก
ขณะเดียวกันโครงการเท่กินผัก น่ารักกิน ผลไม้ ของโรงเรียนบ้านห้วยวิทยาธาร ยังได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้ๆ โรงเรียน มาให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่เด็กๆ และผู้ปกครองด้วย
อุดร สมณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยหีบ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร กล่าวถึงเคล็ดลับในการทำให้เด็กๆ ชอบกินผักว่า ไม่ต้องมีเคล็ดลับอะไร แต่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองสมควรทำอย่างยิ่ง คือการชวนลูกๆ หลานๆ กินผักเป็นประจำเมื่ออยู่บ้าน ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นว่าผักนั้น อร่อยกินแล้วมีประโยชน์ ทุกมื้ออาหารควรมีผักเป็นส่วนประกอบเสมอๆ อย่าให้ขาด
“เราต้องพยายามบอกเขาซ้ำๆ อย่าง มะเขือเทศ ก็ต้องบอกว่า กินแล้วมีประโยชน์นะ กินเยอะๆ หนูจะได้ผิวสวยเหมือนแม่ เพราะมีเบตาแคโรทีน” ผอ.รพ.สต.ห้วยหีบ แนะนำ
“เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้” จึงไม่ได้เป็นแค่ชื่อโครงการน่ารักๆ เท่านั้น แต่ผู้ปกครองน่าจะนำไปใช้บอกบุตรหลานให้รู้จักคุณค่าของการรับประทานผักผลไม้หรืออาหารที่เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของพวกเขา
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยอิสระ สนามไชย