ปลูกผักฉบับคนเมือง “ไม่ยากอย่างที่คิด”
“อยากปลูกผักกินเองจังเลย” หลายคนคงเคยมีความคิดนี้ผุดขึ้นมาในใจ เพราะการปลูกผักกินเองนั้นมีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจในความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ได้ลดภาระค่าใช้จ่ายอีกด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะ ประจำเดือนมีนาคม ประเดิมด้วยกิจกรรมแรกกับ green workshop “มาปลูกผักกัน” โดยคุณชูเกียรติ โกแมน วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสวนผักคนเมือง เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำ เรื่องการปลูกผักกินเองในแบบฉบับของคนเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
คุณชูเกียรติ เล่าว่า คนเมืองมีบทเรียนที่ต้องเรียนรู้และหาทางออกอยู่ 3 ข้อคือ 1. ค่าครองชีพสูง 2. ความไม่ปลอดภัยของอาหารจากสารเคมีตกค้าง และ 3. ความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งคนเมืองมักจะเข้าใจผิดว่าสามารถกินอาหารดี ๆ แพง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกได้ แต่ถ้าวันใดเกิดวิกฤติทางอาหารขึ้นมา วันนั้นคนเมืองจะไม่มีอะไรให้กินเลย ถึงแม้จะมีเงินมากมายแค่ไหนก็ตามต่างกับคนชนบทที่มีพื้นที่ในการปลูกพืชผักกินเองได้
ขั้นตอนในการปลูกผักกินเองนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่สิ่งที่ยากสำหรับคนเมืองคือ “การเริ่มต้นลงมือทำ” นั่นเอง ขอให้คิดง่าย ๆ ว่า “ตั้งใจ ใส่ใจ สำเร็จแน่นอน” เพราะการปลูกผักไม่จำเป็นต้องมีความรู้ แค่ใช้สัญชาตญาณและความรู้พื้นฐาน ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่กว้างเป็นแปลงสวนแค่ใช้พื้นที่ริมระเบียงหอพัก หรือหน้ากระจกในห้องน้ำ ก็สามารถปลูกได้ เพราะส่วนใหญ่ผักสวนครัวสามารถปลูกได้ในทุกภาชนะที่มีรูระบายน้ำ เช่น ถ้วย กะละมัง ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก โดยนำมาเจาะรูเล็ก ๆ เพื่อระบายน้ำป้องกันไม่ให้ดินได้รับน้ำจนเกินความจำเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกผักคือ “ความใส่ใจ” หมั่นดูแลรดน้ำ เช้า-เย็น และใส่ปุ๋ยอินทรีย์เป็นประจำ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดูว่ามีหนอนหรือแมลงมารบกวนรึเปล่า พยายามอย่าให้ถูกแดดร้อนจัดเกินไป แก้ไขด้วยการย้ายที่ตั้งภาชนะหรือใช้ตาข่ายกรองแสง 60% เป็นตัวช่วย ทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ รับรองได้เลยว่าปลูกผักกินเองสำเร็จแน่นอน
คุณชูเกียรติ เสริมทิ้งท้ายว่า “การปลูกผักกินเอง นอกจากจะได้ประโยชน์แก่ตัวผู้ปลูกเองแล้วนั้น ยังเกิดประโยชน์ในมิติอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในสังคมหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งประกอบด้วยครอบครัวที่พักอาศัย ที่ใช้วิถีชีวิตแบบปลูกผักกินเองในบ้าน และใช้วิถีชีวิตแบบคนเมืองทั่วไป คือกินเหลือแล้วทิ้ง บ้านที่ปลูกผักกินเองก็จะไปเก็บขยะจากบ้านที่ไม่ได้ปลูกผัก เพื่อเอามาใช้ในการปลูกผัก เมื่อมีผักเหลือเฟือก็เอาผักไปแลกกับขยะจากเพื่อนบ้าน เกิดความสัมพันธ์เป็นมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว การเป็นเจ้าของสวนผักเล็ก ๆ ริมระเบียง หรือบนดาดฟ้า มีผักปลอดสารพิษกินเอง ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันหากต้องการทราบข้อมูลการปลูกผักเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.thaihealthcenter.org
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์