“ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่” คู่ความปลอดภัย

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ให้สัมภาษณ์โดย  ผศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายถวัลย์ สมใจดี   ต้นแบบคนพิการทางการเคลื่อนไหวที่สามารถดูแลฟื้นฟูตัวเอง


ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือคู่มือการปรับสภาพบ้านสำหรับคนพิการโดยท้องถิ่น


ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


“ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่” คู่ความปลอดภัย thaihealth


ถ้าพูดถึง “บ้าน” คุณนึกถึงอะไร ?


สำหรับฉันและใครหลายๆ คน บ้านคือ ทุกอย่าง คือความเข้าใจ คือความอบอุ่น คือที่พัก คือความสบายใจ ถ้าวันหนึ่งวันใดที่เรารู้สึกว่า บ้านที่เราอยู่ เราไม่สามารถใช้สอยและสัญจรภายในบ้านอย่างคล่องแคล่วเหมือนเดิมแล้ว คงถึงเวลาที่จะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนอะไรสักอย่างเพื่อให้ บ้านหลังเดิม กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง


จะเกิดอะไรขึ้นหากชีวิตโชคร้าย ตื่นมาแล้วพบว่าร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรงเหมือนเดิม หรือมีคนใดคนหนึ่งในบ้านเกิดความพิการ นอกจากเจ้าตัวจะเกิดความกังวลใจแล้ว คนรอบข้างยังต้องพลอยดูแลในทุกอิริยาบถอีกด้วย


จะดีกว่าไหม หากสภาพแวดล้อมภายในบ้านและรอบๆ จะเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเองอย่างภาคภูมิใจ วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเรื่องการปรับสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยคนพิการ ให้สะดวกสบายเท่าเทียมคนทั่วไป


“ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่” คู่ความปลอดภัย thaihealth


ผศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายให้ฟังว่า   คนเราขนาดความสูงความกว้างของตัว ระยะเอื้อม ระยะจับไม่เหมือนกัน มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตในอนาคตไม่เหมือนกัน อยากให้ดูว่าระยะต่างๆ เหมาะกับขนาดร่างกายของเราไหม พฤติกรรมการใช้พื้นที่เหมาะหรือไม่ ดังนั้นการประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ประยุกต์ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย  อาจจะอาศัยภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่น ไม้ไผ่มีอายุงานมากน้อยแค่ไหนถ้าต้องใช้ในห้องน้ำแทนราวจับ จะต้องกี่เดือนเปลี่ยน หรือมีวิธีการอบให้ไม่ขึ้นราหรือไม่เปื่อยหรือไม่ ถ้าตรงนั้นทำได้มีความแข็งแรงพอ เราก็ประยุกต์ใช้ได้ ดังนั้นก่อนที่จะไปใช้วัสดุในท้องถิ่น ขอให้เข้าใจก่อนว่าข้อจำกัดของวัสดุนั้นคืออะไร แล้ววัตถุประสงค์ของการใช้วัสดุนั้นคืออะไร จะสามารถที่จะประสานกันไปได้ โดย ผศ.ดร.ชุมเขต ยังบอกถึงสิ่งที่ควรคำนึงถึงที่สำคัญ มี 2 ลักษณะ ได้แก่


1.การเชื่อมต่อการสัญจรและการเข้าถึง ระบบการสัญจรภายในบ้านต้องเชื่อมต่อ หลายครั้งเราเห็นบางที่ทำเป็นจุดๆ  แต่แท้จริงแล้วต้องทำให้ทั้งบ้านสามารถเชื่อมต่อกันได้ ทำให้เขาสามารถดูแลบ้านได้ด้วยตัวเอง ไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและอยากที่จะออกมาทำกิจกรรมรอบๆ บ้านรวมถึงในบ้าน และทุกๆส่วนของบ้าน


“ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่” คู่ความปลอดภัย thaihealth


2. ห้องน้ำ เพราะว่า อัตราการหกล้มเกือบครึ่งหนึ่งเกิดในห้องน้ำ เพราะห้องน้ำมีความลื่น มีความชื้น และความกดอากาศไม่เหมือนข้างนอก อุณหภูมิภายในอาจทำให้เราหมดสติ หรือล้มได้ในผู้สูงอายุ จึงอยากให้ทำห้องน้ำก่อน เวลาเรานั่งขับถ่ายเราใช้พลังไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเราจะลุกขึ้นยืนจะหน้ามืด จึงอยากให้เป็นโถส้วมแบบนั่งราบ มีราวจับ เวลานั่งอาบน้ำผู้สูงอายุหรือวีลแชร์ให้นั่งอาบ เราจะไม่พยายามให้ยืนเพราะอาจจะล้มได้ง่ายเพราะลื่น ต้องมีสัญญาณขอความช่วยเหลือ เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดเหตุตอนไหน เพราะฉะนั้น กรณีแรกคือ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ คือ ใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ อำนวยความสะดวก แต่ถ้าเกิดเหตุแล้วต้องสามารถขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ข้างนอกเข้ามาช่วยเราได้ทันท่วงทีนั่นเอง


แนวคิดในการปรับสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ


การปรับสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ใช้หลักการที่สอดคล้องกับการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) แต่คำนึงถึงความพิการและบริบทของพื้นที่


1.มีความปลอดภัยทางกายภาพ เช่น มีระบบการป้องกันอันตราย เช่น มีแสงสว่างเพียงพอ มีราวจับในห้องน้ำ พื้นผิวไม่ลื่น มีสัญญาณขอความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น


2.เข้าถึงได้ง่าย เช่น มีพื้นผิวที่ราบเรียบ ไม่มีอุปสรรคกีดขวางทางเดิน มีทางลาดสำหรับรถเข็น และประตูทางเข้าที่มีความกว้างเพียงพอ


3.ส่งเสริมและกระตุ้นการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น เลือกใช้สีที่เหมาะสม จัดอุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ใช้งาน


4.ดูแลรักษาง่ายเท่าที่จะเป็นไปได้ บ้านสำหรับคนพิการทั่วๆไป ควรจัดพื้นที่ตรงไปตรงมา สามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน มีมุมที่ดูแลมองเห็นได้ แต่ยังคงมีความเป็นส่วนตัว


เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คนใดคนหนึ่งในบ้านต้องกลายเป็นภาระพึ่งพิงผู้อื่น ผู้ที่ดูแลก็จะเครียด ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในบ้าน  แต่ถ้าเราทำให้ทุกคนสนับสนุนการดำรงชีวิตอย่างอิสระของทุกคนตั้งแต่ในระดับบ้านก่อนได้ก็จะทำให้เขาไปเป็นพลังสังคมต่อได้ ดังนั้นเริ่มต้นง่ายๆที่บ้านตัวเองและคิดถึงตัวเองในอนาคตด้วย


“ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่” คู่ความปลอดภัย thaihealth


นอกจากนี้ ทีมเว็บไซต์ยังมีโอกาสเยี่ยมชมการปรับสภาพบ้านแบบบูรณาการใช้กับชีวิตประจำวัน  ของนายถวัลย์ สมใจดีหรือพี่แดง  ต้นแบบคนพิการทางการเคลื่อนไหวที่สามารถดูแลฟื้นฟูตัวเอง และออกแบบปรับสภาพสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านที่เอื้อต่อตนเองและผู้สูงอายุ พี่แดงเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า เห็นปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวันในแต่ละอย่าง ก็เริ่มปรับไปทีละนิดละหน่อย เช่น ราวจับ ทางลาด และห้องน้ำ ปรับสภาพบ้านมานานกว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุ หลังจากปรับบ้านทำให้สะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะการนอน การใช้ชีวิตประจำวัน สามารถสัญจรภายในบ้านได้หมด การปรับสภาพบ้านเอื้อต่อทุกคนในครอบครัวอีกด้วย เพราะนอกจากคนพิการแล้วยังเอื้อต่อผู้สูงวัยในบ้านอย่างแม่อีกด้วย กลายเป็นว่าสร้างบ้านเพื่อเอื้อต่อทุกคนในครอบครัวนั่นเอง


“ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่” คู่ความปลอดภัย thaihealth


พี่แดง ยังเล่าอีกว่า พยายามช่วยตัวเอง ไม่อยากให้ใครมาช่วย คิดแค่เพียงว่าไม่อยากให้เป็นภาระใคร ฝากถึงใครที่กำลังจะสร้างบ้าน อยากให้คิดถึงตัวเอง ว่าจะใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร


สสส. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ออกแบบเพื่อทุกคน : Universal Design Center หรือ UDC ร่วมกับมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้บริการให้คำปรึกษาในการออกแบบและปรับสภาพแวดล้อมที่พักอาศัย และพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ผศ.ดร.ชุมเขต กล่าวเสริมว่า ตอนนี้เราต้องเตรียมเผื่อตัวเองว่าในอนาคตเราจะเป็นผู้สูงอายุ และกว่าครึ่งหนึ่งของภาวะผู้สูงอายุ มีความพิการร่วมด้วย ดังนั้นในระดับบ้าน ต้องปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน จะไม่เชิงเป็น Universal Design ซะทีเดียว แต่ต้องเอามาปรับให้เข้ากับเงื่อนไขการชีวิตแต่ละบุคคล


นับว่า บ้าน เป็นสิ่งพื้นฐานสำคัญที่ต้องวางแผนในระยะยาว เพื่อให้สมาชิกทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้น ในช่วงที่ยังมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ลองเลือกซื้อสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้แก่ตนเองและคนในครอบครัว แล้ววันหนึ่งคุณอาจจะย้อนกลับมาขอบคุณตัวเองที่วันนี้เลือกที่จะมองบ้านเผื่ออนาคต สำหรับทุกคนในครอบครัว

Shares:
QR Code :
QR Code