ปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยสำเร็จ ถวายเป็นพระราชกุศล
ที่มา : มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจากมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย
มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย เผยผลสำเร็จ “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยถึง 618 ราย ภายใน 1 ปี เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมเดินหน้าต่อยอดโครงการจัดหาผู้บริจาคไตเพิ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่รอเปลี่ยนไตจำนวนมาก
ศ.กิตติคุณ นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับหน่วยงานผู้สนับสนุนโครงการจำนวน 12 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 58 แห่ง จัดทำ “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา โครงการได้ครบกำหนดระยะเวลา 1 ปีในปีนี้ โดยมีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้วทั้งสิ้น จำนวน 618 ราย เป็นไตจากญาติ จำนวน 226 ราย เป็นไตจากการบริจาค 392 ราย จากที่มูลนิธิฯ ได้ตั้งเป้าถวายเป็นพระราชกุศลไว้ จำนวน 600 ราย ถือว่าโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ทำให้ยอดผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการปลูกถ่ายไตมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้มีการบริจาคไต ตลอดจนอวัยวะอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น และยังสนับสนุนให้หน่วยงานและสถาบันการแพทย์จัดตั้งโครงการปลูกถ่ายไตเพิ่มมากขึ้น และดำเนินงานมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย ดังนี้ 1.กระทรวงสาธารณสุข 2. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 3.มูลนิธิท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ 4.ศิริราขมูลนิธิ 5.มูลนิธิศิริวัฒนภักดี 6. สำนักงานหลักประกันสุขภาพ 7.สำนักงานประกันสังคม 8.กรมบัญชีกลาง 9.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย 10.โรงพยาบาลที่ทำการผ่าตัดผลูกถ่ายไต และสนับสนุนอวัยวะ 11.สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย 12.สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย 13.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ และ 14. ผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป
อย่างไรก็ดี ภายในปี 2559 ทางมูลนิธิฯ มีแผนงานที่จะดำเนินโครงการต่อไป เพื่อผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากที่ยังรอการปลูกถ่ายไตอยู่จำนวนมาก แม้ว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในประเทศไทย เริ่มทำการปลูกถ่ายไตตั้งแต่ปี 2514 นับถึงปัจจุบันการปลูกถ่ายไตในประเทศไทยยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้เพียงพอ ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคไตที่รอการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัญหาใหญ่คือการบริจาคไต โดยในปี 2556 ผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายไตจากภาวะสมองตาย อยู่ถึง 3,900 ราย แต่มีผู้สมองตายบริจาคไตเพียง 158 ราย และปลูกถ่ายไตได้เพียง 287 ราย คิดเป็นเพียงร้อยละ 7.3 เท่านั้น ซึ่งมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าสนับสนุนจัดทำโครงการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยที่ยากไร้ต่อไป เนื่องจากการปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นการบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุด โดยนำไตที่ยังทำงานได้ดีของผู้อื่น มาปลูกถ่ายใส่ร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ไตใหม่ที่ทำงานได้ดี จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติ แต่ปัญหาที่พบคือระยะเวลาการรอรับอวัยวะยาวนานเนื่องจากจำนวนผู้บริจาคอวัยวะมีจำนวนน้อย
“การบริจาคอวัยวะในประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานให้มีการบริจาคอวัยวะ นำอวัยวะของผู้บริจาคไปปลูกถ่ายยังผู้รอรับบริจาคที่ได้ขึ้นทะเบียนตามลำดับ โดยดูที่ความเร่งด่วน การเข้ากันของอวัยวะ ปัจจุบันยังมีผู้เสียชีวิตจากสมองตาย บริจาคอวัยวะน้อยมากเพียงปีละ 80 รายเท่านั้น โดยสถิติตามจำนวนประชากรแล้วประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากสมองตายและบริจาคอวัยวะได้ จำนวนประมาณ 1,000 รายต่อปี ทั้งนี้ผู้บริจาค 1 ราย สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่าย ได้แก่ ไต 2 ข้าง ตับ หัวใจ และปอด ให้แก่ผู้รอปลูกถ่ายอวัยวะได้ถึง 3-5 ราย นับเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ในวาระสุดท้ายของชีวิต และเป็นที่น่ายินดีว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดให้การปลูกถ่ายไตเป็นสิทธิที่ผู้ป่วยพึงได้รับ” ศ.กิตติคุณ นพ.วิศิษฏ์ กล่าว
ด้าน พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยโรคไต คาดว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดย 1 ใน3 มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย 200,000 คน มีผู้เสียชีวิตจากไตวายปีละ 13,000 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ10,000 คน โดยผู้ป่วยไต 1 คน มีค่าใช้จ่ายในการล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตผ่านทางหน้าท้องต่อคนเฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท ซึ่งแต่ละปีใช้งบประมาณสูงถึง 3,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2560 อาจต้องใช้งบประมาณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท ต้นเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและการรับประทานเค็มซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคไตมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการรักษาโดยการปลูกถ่ายไตทั่วโลกยอมรับกันว่า เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการบำบัดรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้สิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายไตในระบบบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยคนไทยทุกรายมีสิทธิประโยชน์ในการปลูกถ่ายไตทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้น จาก 200-250 ราย เป็น 400-500 รายและเป้าหมายสัดส่วนตัวเลขผู้ได้รับการปลูกถ่ายไตจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายที่จะให้โรงพยาบาลทั่วไปที่ดูแลผู้ป่วยสมองตายให้มีการวินิจฉัยสมองตายและเปิดโอกาสให้บริจาคอวัยวะทุกราย เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วย ญาติ บุคลากรที่ร่วมดูแลผู้ป่วย ทีมประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะได้ร่วมกันสร้างทานอันสูงสุด