ปลูกดอกไม้กลางไร่อ้อย

ที่มา : แฟนเพจ Home 6 บ้านฉันน่าอยู่


ภาพประกอบจาก แฟนเพจ Home 6 บ้านฉันน่าอยู่


ปลูกดอกไม้กลางไร่อ้อย thaihealth


ดอกดาวเรืองบานเหลืองสะพรั่งกลางหมู่บ้าน นี่คือสวนของ วรรณศิริ เกตุแพง ชาวบ้านเทพคีรี ตำบลเทพคีรี อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู จากเมื่อก่อนแปลงดาวเรืองแห่งนี้ คือพื้นที่ปลูกไร่อ้อย แต่ต่อมาได้กลายเป็นเป็นสวนดาวเรืองในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ที่กำลังจะกลายเป็นอาชีพใหม่และสามารถสร้างรายได้ทดแทน


“ลูกสาวเป็นคนแนะนำให้ปลูกซึ่งไปเจอวิธีการปลูกในอินเตอร์เน็ท เขาก็เลยแนะนำแม่ให้ปลูกดอกดาวเรือง เพราะเห็นว่าการปลูกอ้อยมันต้องใช้สารเคมีเยอะ เนื่องจากเมื่อก่อนตรงนี้จะปลูกอ้อยทำมาประมาณ 5-6 ปี ซึ่งทำอ้อยต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเพราะมันคุมหญ้าไม่ได้ แต่เรามาปลูกดอกดาวเรืองไม่ต้องใช้สารเคมี มันส่งผลดีต่อสุขภาพตัวเองไม่ต้องพะวงว่าจะต้องดมยาเคมี แค่ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์เหมือนสมัยก่อนที่พ่อแม่เคยพาทำ” เจ้าของสวนดาวเรืองเล่าให้ฟังถึงที่มาของการเปลี่ยนเนื้อที่จากแปลงอ้อยมาเป็นสวนดาวเรือง


บ้านเทพคีรีเป็นชุมชนกึ่งเมือง เศรษฐกิจที่นี่ค่อนข้างคึกคัก ด้วยเพราะในช่วง 4-5 ปี ย้อนหลัง ได้เกิดอุตสาหกรรมอ้อยในเขตพื้นที่ จึงทำให้มีเงินไหลเวียนตลอดเวลา และราคารับซื้ออ้อยนั้นค่อนข้างสูงกว่าพืชอย่างอื่น อีกทั้งการปลูกอ้อยแค่ครั้งเดียวก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้นาน 3-4 ปี จึงทำให้คนในชุมชนหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้น แต่แน่นอนว่าพืชอุตสาหกรรมย่อมมาพร้อมกับการลงทุนและความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมการผลิต


ปลูกดอกไม้กลางไร่อ้อย thaihealth


“พอมีไร่อ้อยเยอะขึ้นการใช้สารเคมีก็เกิดขึ้นเพราะมันต้องฆ่าหญ้า และประเด็นที่ชุมชนเป็นห่วงมากที่สุดคือการฉีดพ่นยาที่ไม่เฉพาะในแปลงอ้อยเท่านั้น แต่ชาวบ้านได้นำยาเคมีมาฉีดในในชุมชนรวมถึงบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน แทนที่จะดายหญ้าเหมือนเมื่อก่อน แต่กลับเป็นว่าพอเห็นที่ไหนมีหญ้าขึ้นก็ฉีด ซึ่งเกิดจากความคุ้นเคยและความมักง่าย ที่สำคัญในโรงเรียนภารโรงก็ฉีดอีก ซึ่งเรามองว่าลูกหลานเราก็เรียนอยู่นั่น ประกอบกับทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและ อสม.ก็มีการออกสำรวจซึ่งพบว่า ชาวบ้านมีกลุ่มเสี่ยงเพราะมีสารเคมีตกค้างในร่างกายเยอะและมีผลต่อทั้งระบบทางเดินหายใจและทางผิวหนัง” รวิภา หันตุลา ผู้ใหญ่บ้านเทพคีรีเหนือ เล่าให้ฟังถึงผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา


ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านเทพคีรี จึงรวมตัวก่อการคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกิดเป็นสภาผู้นำชุมชน ภายใต้โครงการ “ชุมชนเทพคีรีสุขภาพดี ด้วยเกษตรอินทรีย์” 


ผลจากการหันหน้ามาคุยกันและร่วมกันทำงานอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้วันนี้หมู่บ้านเทพคีรี มีครัวเรือนนำร่องที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทำเกษตรอินทรีย์จำนวน 30 ครัวเรือนๆละ 1 งาน และมีการปลูกผักสวนครัวโดยไม่ใช้สารเคมีไว้ในครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 5 ชนิด รวมถึงลดการใช้ปุ๋ยเคมีแล้วเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน และสวนดาวเรืองบานเหลืองสะพรั่งก็คือแนวทางใหม่ที่จะมาทดแทนป่าอ้อยที่เต็มไปด้วยสารเคมี นี่คือมิติใหม่ในการทำงานของชุมชนเทพคีรี จากเดิมที่งานหมู่บ้านถูกกระจุกอยู่เพียงผู้นำชุมชน แต่ ณ วันนี้ รูปแบบเดิมๆเหล่านั้น ได้ถูกเปลี่ยนผ่าน มาสู่การร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือทำ จากการทำงานอย่างต่อเนื่อง

Shares:
QR Code :
QR Code