ปลูกชีวิต…ปลูกจิตอาสาที่ป่าชายเลน

“โมเดล”ความมั่นคงด้านอาหาร ที่อ่าวพังงา

ปลูกชีวิต…ปลูกจิตอาสาที่ป่าชายเลน

          ภายหลังเกิดเหตุ “คลื่นยักษ์สึนามิ” พัดถล่มจังหวัดชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 นับจากนั้นภาครัฐ ได้ขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอันดามันให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ

 

         “การพัฒนา” ครั้งนั้นนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุ มีการจ้างงาน และการสะพัดของเงินตราจำนวนมหาศาล  ทว่าในมุมกลับ”การพัฒนา” อย่างเร่งรีบ ก็นำมาซึ่งความพินาศย่อยยับของทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

 

          หลายพื้นที่ของชายฝั่งอันดามัน ถูกปรับ และเปลี่ยนสู่การพัฒนา ป่าชายเลนที่เปรียบเสมือนโรงเรือนอนุบาลสัตว์น้ำตามธรรมชาติถูกตัดโค่น แปรเปลี่ยนเป็นรีสอร์ท อาหารเริ่มขาดแคลน พันธุ์พืชหลายชนิดอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ !!!

 

          เมื่อสัญญาณความหายนะมาเยือน ชาวบ้านอ่าวพังงา  ประกอบด้วย ชุมชนบ้านทองหลางบ้านแหลมหิน ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และชุมชนบ้านบางลา บ้านผักฉีด และบ้านยามู  อ.ถลาง จ.ภูเก็ต  จึงลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองในการพิทักษ์ป่าชายเลน ในฐานะแหล่งผลิต อาหารสำคัญของชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ”  (สสส.)  ให้ดำเนิน “โครงการความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา”

 

          พิเชษฐ์ ปานดำ หรือ “บังอิษฐ์” เจ้าหน้าที่โครงการความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนประมงชายฝั่งอ่าวพังงา หัวแรงใหญ่ในการประสานใจ หลอมรวมชาวบ้านให้ร่วมกันฟื้นฟูป่าชายเลนอ่าวพังงาที่เสื่อมโทรม อธิบายว่า อ่าวพังงามีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่พิเศษกว่าทะเลที่อื่น ตรงที่อ่าวพังงาเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมง 3 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา และกระบี่ พื้นที่ป่าชายเลนของระบบนิเวศน์อ่าวพังงามีพื้นที่รวมกัน 40 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 190,000 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ใหญ่สุดของประเทศ คิดเป็นพื้นที่รวมกันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชายเลนเหลืออยู่เพียง 1 ล้านไร่เท่านั้น

 ปลูกชีวิต…ปลูกจิตอาสาที่ป่าชายเลน

          โครงการความมั่นคงทางด้านอาหารฯเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2550   ดำเนินงานเพื่อสร้าง แหล่งอาหารรองรับชุมชน 500 ครอบครัวที่มาพึ่งฐานทรัพยากรอาหารป่าชายเลน และเพื่อให้ชาวบ้านสามารถรักษา ปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่เป้าหมายให้ได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ไร่  และเพื่อใช้เป็น “โมเดล” ต้นแบบในการรักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหาร และระบบนิเวศน์ชายฝั่งในพื้นที่อื่นๆ

 

          พิเชษฐ์เล่าว่า โครงการความมั่นคงทางด้านอาหารฯก้าวย่างไปตามจังหวะที่ได้วางแผน ไว้อย่างลงตัว ในปีที่ 1  (พ.ศ.2550)  เป็นการกระตุ้นจิตสำนึก โดยแกนนำชุมชนจัดกิจกรรมรณ รงค์ให้ชาวชุมชนเห็นความสำคัญของฐานอาหารในอ่าวพังงาที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็วโดย นำประเด็นเรื่อง “เคย” (สัตว์ทะเลรูปร่างคล้ายกุ้งแต่ตัวเล็กมาก เหมาะสำหรับใช้หมักเกลือทำกะปิและน้ำเคย)  และ  “อาหารท้องถิ่น” หลายชนิดที่กำลังถูกคุกคามและถูกทำลายจากการพัฒนาด้าน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น การเร่งทำประมงที่ใช้ เครื่องมือในการจับสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างเห็นได้ชัด

 

          “เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขับเคลื่อน ทรัพยากรท้องถิ่นก็เริ่มเลือนหาย สัตว์น้ำที่มีอยู่ มากก็ลดน้อยลงไป  อาหารท้องถิ่นบางชนิด เช่น แกงส้มปลาอมไข่ ก็หมดไป เพราะปลาอมไข่เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในคลองป่าชายเลน เมื่อป่าชายเลนถูกทำลาย ปลาอมไข่ก็ไม่มี เมื่อปัญหามากมาย เห็นได้เด่นชัด  ชาวบ้านจึงร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนา”  พิเชษฐ์ กล่าว

 

          ในขวบปีที่ 2   เมื่อชาวชุมชนมีสำนึกร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นแล้ว เป้าต่อไปคือการเจาะกลุ่มเยาวชน โดยในพื้นที่มีการตั้ง “กลุ่มเยาวชนเด็กชายเล  รักษ์ป่าชายเลน” จ.พังงา และ “กลุ่มขบวนการเด็กรักษ์ป่าชายเลน จ.ภูเก็ต” ที่รวมเอาสมาชิกกว่า 100 คน จากชุมชนโดยรอบ มาทำกิจกรรม สร้างโอกาสในการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ในฐานะผู้ที่รับ ช่วง หรือรับภาระต่อจากชุมชน  มีการศึกษาดูงานระบนิเวศน์ และฐานทรัพยากรอาหารในพื้นที่ภาคใต้, จัดค่ายเยาวชน, สำรวจพันธุ์พืชในป่าชายเลน, ฟื้นฟูและปกป้องป่าชายเลนร่วมกับชุมชน และ การเพาะพันธุ์หอยแครง เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ของกลุ่มเยาวชน

 

          สำหรับปีที่ 3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการความมั่นคงทางด้านอาหารฯ พิเชษฐ์บอกว่า เมื่อฐานที่มั่นในชุมชนมั่งคงแล้ว ก้าวย่างต่อไปจะเป็นการทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น และในระดับจังหวัด ให้มีความเข้มข้นขึ้นคือจากเดิมภาคีต่างๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนเป็น ครั้งคราวเท่านั้น ไม่มีกระบวนการต่อเนื่องมากนัก  ในปีนี้จะสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และ ภาคีให้มากขึ้น มีการสร้างกิจกรรมที่มาสู่การปฏิบัติร่วมกัน ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพร่วม ไม่ใช่ผู้เข้าร่วม เพื่อขยายแนวร่วมและสร้างความร่วมมือในการปกป้องและรักษาฐานทรัพยากรอาหาร นอกจากนี้ จะมีการขับเคลื่อนงานเยาวชนให้มีความเข้มข้นขึ้นในการเรียนรู่ทั้งในชุมชน และในพื้นที่อื่นๆ

 

         เมื่อโครงการสิ้นสุดลงในช่วงเดือน ก.ค. 2553 เชื่อมั่นว่าโครงการความมั่นคงทางด้านอาหารฯ   ที่ชาวชุมชนบ้านทองหลาง บ้านแหลมหิน ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และชุมชนบ้าน บางลา บ้านผักฉีด และบ้านยามู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ร่วมกันขับเคลื่อนมาตลอด 3 ปี จะนำไปสู่การรักษา และฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนอย่างยั่งยืน

 

………….องค์ความรู้ที่ได้ จะถูกนำไปต่อยอด ขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียง เพื่อรองรับวิกฤติอาหาร

 

………….และวิกฤิการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ !!!

 

 

 

 

 

 

ที่มา/ภาพ: หนังสือพิมพ์ แนวหน้า

 

 

 

update: 05-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

Shares:
QR Code :
QR Code