บางครั้งการเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ หากเริ่มเปลี่ยนในวัยที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะสายเกินไป การเริ่มจากเด็กวัยที่เปรียบเสมือนผ้าขาวบริสุทธ์ จึงดูเป็นอะไรที่ดีที่สุดหากเริ่มการเปลี่ยนแปลงจาก ณ จุดนี้ เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอ่าน จึงได้จัดงานประชุมสัมมนาสาธารณะ “ของขวัญวันเด็ก : ปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทย ด้วยหนังสือเล่มใหม่” ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการวิเคราะห์แก่นสาระ และสุนทรียภาพหนังสือเด็กปฐมวัยจาก 108 หนังสือดี เสมือนเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย 0-9 ปี และเพื่อเป็นการสร้างให้สังคมเกิดตระหนักและตื่นตัวในเรื่องการปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทยด้วยหนังสือ ตลอดจนนำเสนอการหาแนวทางการปฏิรูปจิตสำนึกใหม่ของสังคมไทย ผ่านหนังสือเด็กในอนาคต
ศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์สื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. เผยว่า การเปลี่ยนประเทศที่แท้จริง ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยหัวใจ แต่จะต้องเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวอย่างเด็กๆ จะเห็นได้จากงานวิจัยต่างๆ ว่า เด็กที่อยู่ในวัยปฐมวัยหากให้มีการเรียนรู้ที่ดีในช่วงนี้จะนำไปสู่การกระตุ้นจิตสำนึกที่ดี ประพฤติที่ดี ปฏิบัติและการยอมรับซึ่งกันและกัน โดยสื่อที่เอื้อต่อการเรียนรู้เหล่านี้ได้ที่สุดก็คือ หนังสือ
ด้าน รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ อาจารย์จากศูนย์พัฒนานวัตกรรมการอ่านและคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 108 หนังสือดีของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เกิดขึ้นจากหลักคิดที่ว่า เด็กเล็กที่แม้จะมีอายุ 0-2 ปีก็สามารถอ่านหนังสือได้ โดยอาจจะเป็นการจดจำจากสีหรือภาพลักษณ์ จึงเป็นการดีที่จะเริ่มปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยรักการอ่านตั้งแต่ในวัยนี้ ประกอบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีการพัฒนาด้านการผลิตหนังสือมากขึ้น เกิดเป็นโรงพิมพ์ทั้งเล็กใหญ่ และเกิดเป็นหนังสือดีๆ ตามมามากมายทั้งของไทยเอง รวมทั้งหนังสือที่แปลจากต่างประเทศ หากเด็กไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงหรือได้สัมผัสถึงหนังสือดี เด็กก็จะไม่รู้ว่าหนังสือที่ดีเป็นอย่างไร
สำหรับหนังสือดี 108 เล่มจากแผนงานส่งเสริมนวัตกรรมการอ่านนี้ ได้มีการแบ่งกลุ่มสาระเป็นเกณฑ์ที่เหมาะกับเด็ก 0-2, 3-5 และ 6-9 ปี ซึ่งตัวหนังสือเองก็จะต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือก ไม่เพียงดูจากภาพ ภาษา แก่นสารการนำเสนอ ยังพิจารณาจาก “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่เปรียบเสมือนช่วงวัยของการเรียนรู้ที่จะผ่านมาแล้วผ่านไป โดยในหน้าต่างนี้เองต้องประกอบด้วยคุณลักษณะต่างๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความผูกพัน การไว้วางใจผู้อื่น รู้จักถูกผิด รู้จักช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเอง มีทักษะด้านความปลอดภัย การควบคุมอารมณ์ตัวเอง การช่วยเหลือเกื้อกูล ส่งเสริมจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
“ทางเราเชื่อว่า ถ้าเด็กคนไหนได้มีโอกาสอ่านหนังสือทั้ง 108 เล่มนี้ พวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่รักการอ่านหนังสือไปตลอดชีวิต เพราะหนังสือเหล่านี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยความงามของภาพ จังหวะจะโคนของเรื่องราว ที่มีการแฝงประเด็นให้ได้เรียนรู้อยู่เสมอ” รศ.ถิรนันท์ กล่าว และยังได้ยกตัวอย่างหนังสือดีจากทั้ง 108 เล่มด้วยว่า อย่างเช่นหนังสือเรื่อง “แม่มดกับนางฟ้า” ที่เล่าถึงแม่มดที่ชอบเสกให้เจ้าชายเป็นกบ และนางฟ้าที่ชอบเสกให้กบเป็นคน ซึ่งเป็นหนังสือที่สื่อให้เห็นว่า คนเรามักมีทั้ง 2 ด้านในตัวเอง ทั้งด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดี รวมถึงหนังสือที่ชื่อ “ผมเป็นหมาป่าได้ไหมครับ” เป็นเรื่องราวของกระต่ายตัวหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันอยากที่จะเป็นหมาป่า จนไม่ยอมไปเข้าพวกกับกระต่าย แต่มีความต้องการไปใช้ชีวิตกับหมาป่า จนกระทั่งตอนท้ายของเรื่องหมาป่ากลับบอกว่ากระต่ายตัวนี้เป็นกระต่ายที่ไม่เหมือนทั้งกระต่ายและหมาป่า โดยเป็นการสอนให้รู้ถึงความภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง
ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถดูรายชื่อ 108 หนังสือดีที่ได้รับการคัดสรร เพื่อเป็นการเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้ที่ www.happyreading.in.th ในคอลัมน์ “เล่มนี้ชวนอ่าน”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์