ปลุก ‘ศรีบอยา’ เป็นเกาะแห่งการอ่าน
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ และเพจเกาะแห่งการอ่าน
แฟ้มภาพ
“พวกเราไปเจอเด็กผู้หญิงสองคนในวัยเรียนกำลังกรีดยาง เลยเอาหนังสือนิทานที่ส่งเสริมการอ่านไปให้ เขาดีใจมากที่ได้เห็นหนังสือเหล่านี้ มันมีคุณค่าทางจิตใจ” หนึ่งในคำบอกเล่าของ ฮาริส มาศชาย หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการเกาะแห่งการอ่าน เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจ ที่ ณ วันนี้ ‘การอ่าน’ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในลมหายใจของลูกหลานชาวประมงบนเกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่
“เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” ฮารีสบอกว่ากล่าวเช่นนั้นได้จริงๆ ในเรื่องของการขับเคลื่อนการอ่านใน จ.กระบี่ จุดเริ่มต้นของเกาะแห่งการอ่านมาจากกลุ่มคนเล็กๆ เพียงไม่กี่คน ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ธรรมดาๆ ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ โดยเกิดจากแกนนำที่สร้างกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยนำเรื่องศิลปวัฒนธรรม และการอ่านไปสร้างกระบวนการ จนระเบิดพลังจากกลุ่มเล็กๆ ไปยังระดับจังหวัด ระดับกระทรวงฯ และเกิดนโยบายด้านการอ่าน
ฮาริส ขยายความต่อไปว่า แนวคิดเริ่มแรกมาจากกลุ่มละครมาหยา โดยได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ทำเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ ใช้สื่อศิลปวัฒนธรรมและการอ่านเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่ จนกลายเป็น 1 ใน 12 วาระ กระบี่เมืองสร้างสรรค์และเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งไปตอบโจทย์วาระของจังหวัดถึง 4 ประการ คือ 1.เมืองแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ 2. กระบี่ ความหลากหลายที่ล้ำค่า 3. มั่งคั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ แบ่งปันความสุข 4. เด็กกระบี่ดี มีอนาคต และปัจจุบันนี้ ปาล์ม – ปริวัตร กิจนิตย์ชีว์ ประธานโครงการเกาะแห่งการอ่าน ได้เข้ามาขับเคลื่อนงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ฮาริส มาศชาย หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการเกาะแห่งการอ่าน
ปลุก ‘ศรีบอยา’ เป็นเกาะแห่งการอ่าน
จ.กระบี่ ประกอบไปด้วยเกาะนับร้อยเกาะ ทั้งที่มีคนอาศัยอยู่และไม่มีคนอยู่ บางเกาะมีความเจริญรุ่งเรืองและมีวิถีชีวิตที่ตื่นตาตื่นใจ เนื่องจากนักท่องเที่ยวได้เข้าไปสร้างสีสันในพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่บางเกาะ ก็เป็นพื้นที่ปิดเพราะนักท่องเที่ยวยังไม่รู้จัก และยังไม่ได้เข้าไปในพื้นที่เท่าที่ควร เช่นเดียวกับ เกาะศรีบอยา ที่เป็นหนึ่งในเกาะที่มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 800 หลังคาเรือน บนเกาะแห่งนี้เป็นชุมชนชาวประมง ไม่ค่อยพลุกพล่านจากนักท่องเที่ยวมากนัก
การเดินทางไปเกาะแห่งนี้ ไม่ได้สะดวกสบายเท่าที่ควร แต่ฮารีสและทีมก็เดินทางไปที่นั่น แม้ว่าบริบทของกระบี่จะเป็นเกาะท่องเที่ยว แต่อีกมุมหนึ่งที่เกาะเล็กๆ อย่างศรีบอยา เป็นเกาะที่ยังห่างไกลสาธารณูปโภคและความเจริญอีกหลายๆ ด้าน จึงได้นำเรื่อง ‘การอ่าน’ เข้าไปขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้
“เจอเด็กผู้หญิงสองคนในวัยเรียนกำลังกรีดยาง เลยเอาหนังสือนิทานที่ส่งเสริมการอ่านไปให้ เขาดีใจมากที่ได้เห็นหนังสือเหล่านี้ มันมีคุณค่าทางจิตใจต่อเด็กมาก แต่เขาไม่ได้ไปโรงเรียนสม่ำเสมอนะ ยังคงต้องช่วยพ่อแม่ทำงานด้วย เพราะวิถีชีวิตบังคับให้ต้องเป็นแบบนั้น” เขาเล่า
แนวคิดของกลุ่มละครมาหยาไม่ได้ต้องการให้เด็กได้แค่อ่านหนังสือ แต่ต้องสร้างการเข้าถึงหนังสือให้กับเด็กๆ โดยใช้กระบวนการกิจกรรมผ่านนิทานและการอ่าน สร้างแกนนำเด็กหัวกะทิและกระจายแกนนำไปในทุกพื้นที่ เสมือนขบวนการมด โดยสร้างทักษะให้แกนนำเด็กๆ เพื่อให้เขาสร้างสรรค์กระบวนการการอ่านด้วยตัวเอง โดยไม่ได้บังคับให้เด็กต้องอ่านหนังสือ แต่จะปลูกฝังวินัยในเรื่องการเห็นคุณค่าของการอ่าน
บนเกาะศรีบอยาแห่งนี้ มีกลุ่มเยาวชนรักบ้านเกิดมาเข้าร่วมและสร้างสรรค์กิจกรรมการอ่านในพื้นที่ เช่น การทำหนังสือนิทานทำมือ อ่านริมชายหาด เกมสร้างนักอ่าน เป็นต้น
“ที่เกาะแห่งนี้เป็นทิศทางของลมที่พัดมา ซึ่งจะนำพา 'ขยะ' ทั้งหมดมาที่นี่ เด็กๆ จึงมีกิจกรรมเก็บขยะ และนำขยะมาสร้างเรื่องราวเป็นตัวละคร เป็นเรื่องเล่า ทำให้เกิดกิจกรรมการอ่าน หรือสร้างสรรค์กิจกรรมจากทราย ถ้ามองผิวเผินก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป นี่ล่ะคือของเล่นที่ดีอีกชิ้นหนึ่งของเด็กในพื้นที่ เพราะนอกจากน้องๆ ได้สร้างสรรค์จินตนาการแล้ว ยังได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ส่งเสริมการทำงานของสมองส่วนหน้า (EF) และยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ผลิตของที่ระลึกจากวัสดุธรรมชาติและเหลือใช้ เพื่อขายนักท่องเที่ยวอีกด้วย เมื่อเด็กๆ ในพื้นที่ทั้งชาวเล ชาวอุรักลาโว้ย ฯลฯ เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ตัวเขาเองก็ส่งต่อโอกาสนี้และขยายคุณค่าไปยังคนอื่นต่อไป
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดสุขภาวะทั้ง 4 มิติ กาย จิต ปัญญา และสังคม ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการเล็กๆ เห็นมิติที่ครบทุกด้าน ซึ่งทำให้เด็กมีคุณค่า และลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ได้เยอะมาก เพียงแค่เรื่องการอ่านเพียงเรื่องเดียวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากภายในสู่ภายนอก เชื่อมโยงกันระหว่างเด็ก ผู้ใหญ่ เครือข่ายและคนในพื้นที่ รวมถึงนโยบายจากทางกระทรวงศึกษาธิการ” ฮารีส เล่า
การอ่านเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทุกด้าน
เมื่อการอ่านเข้าไปจับจองพื้นที่ในใจของเยาวชนแล้ว ทำให้เด็กมีอาวุธทางปัญญา ปัญหาเด็กติดเกม เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ท้องในวัยเรียน ก็ค่อยๆ หายไปจากพื้นที่ กระบวนการที่เริ่มต้นจากเด็กและพื้นที่เล็กๆ ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมดาๆ ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ที่มีทั้ง สื่อดี ภูมิดี พื้นที่ดี เกิดพลังของเยาวชนในพื้นที่ และพลเมืองรุ่นใหม่ที่ตื่นรู้
“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในฐานะของคนทำงาน ไม่ได้มองว่า เราเป็นผู้ให้อย่างเดียวแต่เรากลับเป็นผู้รับพลังนั้นด้วย ได้เห็นน้องๆ เยาวชนเกิดการเปลี่ยนแปลง เห็นพื้นที่กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เรื่องเล็กๆ พลังเล็กๆ นี้ส่งไปถึงคนอื่นๆ ในวงกว้าง ก็ทำให้ตัวคนทำงานแบบเราเกิดพลังการใช้ชีวิตเช่นกัน” เขาเผย
กลไกของพวกเราก็เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่สะเทือนไปหาผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกที่มีพลังมาก โดยเกิดจากการขับเคลื่อนความต้องการของเด็กในพื้นที่เอง และนี่คือตัวอย่างของพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยพลังของสื่อศิลปวัฒนธรรมและการอ่าน