ปลุกใจเมืองท่าพระด้วยตลาดร้อยปี
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สยามรัฐ
เกือบ 2 เดือนแล้วที่ "ตลาดร้อยปีท่าพระ" อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนในตำบลท่าพระและใกล้เคียง นำสินค้าหลากหลายชนิดมาวางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฮนด์เมด อาหารการกินแบบที่หาที่ไหนไม่ได้ รวมไปถึงสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป พร้อมกับการแสดงที่ผู้แสดงเป็นคนในชุมชน จนกลายเป็นสีสันและสถานที่นัดพบแห่งใหม่ของคนในพื้นที่
ตลาดร้อยปีท่าพระ ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟเก่าแก่ของ ต.ท่าพระ โดยเป็นถนนเชื่อมจากมิตรภาพพุ่งตรงไปยังหน้าสถานีรถไฟ โดยถนนเส้นนี้มีชื่อเรียกของคนในพื้นที่ว่า "ถนนพานิชย์เจริญ" มีความยาวประมาณ 100 เมตร สองข้างถนนเป็นบ้านไม้เก่าที่มีอายุกว่า 100 ปี เกิดมาพร้อมสถานีรถไฟท่าพระและตลาดบ้านท่าพระเก่า
สมัยก่อนถนนเส้นนี้เจริญมาก ร้านรวงทุกแห่งเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า แต่พอเมื่อ 20 ปีให้หลัง ห้างโมเดิร์น เทรดเข้ามายึดครองพื้นที่หัวเมืองใหญ่ ลูกค้ารายเล็กรายน้อยทยอยเข้าห้างตากแอร์กันหมด ทำให้ถนนเส้นนี้พร้อมทั้งร้านรวงที่มีอยู่ซบเซา
จนกระทั่ง "พิสุทธิ์ อนุตรอังกูร" นายกเทศมนตรีตำบลท่าพระ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ได้ทำประชาคมกับชาวตำบลท่าพระ เพื่อหาแนวทางการกระตุ้นการฟื้นคืนความรุ่งเรืองของเมืองท่าพระแห่งนี้ให้กลับคืนมา กอปรกับการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังขยายเส้นทางการรถไฟให้เป็นรถไฟทางคู่ จึงจะต้องปรับปรุงสถานีรถไฟใหม่ โดยโละสถานีเก่าที่อยู่ตามเส้นทางรถไฟสายอีสานทั้งหมด
นายกพิสุทธิ์เอง เป็นลูกหลานเมืองท่าพระ เมื่อรู้ว่าการทางรถไฟจะรื้อทิ้งสถานีรถไฟเก่าจึงเสียดาย จึงทำเรื่องขอการรถไฟฯ เพื่อเคลื่อนย้ายอาคารสถานีรถไฟมาไว้ในชุมชน โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ภายใต้แผนงานสื่อ ศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งขับเคลื่อนโครงการสปาร์คยู หรือ ปลุก-ใจ-เมือง เข้ามาหนุนเสริมให้เกิดการระดมสมองและร่วมคิดร่วมทำ จนเกิดเป็นมติของชุมชนในการจะช่วยกันหางบประมาณมาใช้ในการเคลื่อนย้ายสถานีรถไฟมาเป็นของชาวชุมชน และเกิดกิจกรรม "ท่าพระร้อยปี ในความทรงจำ" ดึงเอาเด็ก เยาวชน ครู อาจารย์ คนในชุมชน ค้นหาประวัติ ความมาของเมืองท่าพระในอดีต ร่วมค้นหาของดีท่าพระ ไม่ว่าจะเป็น ไก่ย่างท่าพระ บ้านไม้เก่าชาวท่าพระ ประวัติของพันนา ฤทธิไกร ที่เป็นชาว ท่าพระแต่กำเนิด รวมถึงโรงหนังเก่าที่ตำบลท่าพระแห่งนี้ด้วย
"ผมอยากให้ตลาดท่าพระเป็นเหมือนพื้นที่แสดงออกของเด็ก เยาวชน ครู นักเรียน และคนท่าพระ โดยหลังจาก สสส.เข้ามาสนับสนุน งบประมาณทำกิจกรรมปลุกใจเมือง ที่สนับสนุนให้คนท่าพระค้นหาตัวตน ของตนเอง พร้อมกับภาคภูมิใจในความเป็นมาของบ้านตนเอง เพื่อรองรับ สถานีรถไฟเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี ที่ชาวชุมชนอยากจะได้มาเป็นของชุมชนแทนการรื้อทิ้งของการรถไฟฯ มันกระตุ้นให้คนท่าพระรักบ้านเกิด รักตัวเอง และภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตนเองมาก" พิสุทธิ์ อนุตรอังกูร นายกเทศมนตรีรุ่นใหม่ไฟแรง บอก
ทุกวันพุธตลาดท่าพระร้อยปีหรือถนนคนเดินแห่งนี้ ยังเปิดบริการให้คนที่สนใจมาเดินเลือกซื้อสินค้า พร้อมเสน่ห์ที่ชาวชุมชนได้เติมเต็มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้พ่อค้าแม่ค้าแต่งตัวด้วยชุดผ้าพื้นเมือง การนำเอาการแสดง ของคนในชุมชน ทั้งการร้องสรภัญญะ หมอลำซิ่ง มัคคุเทศก์น้อย การเต้นบาสโลป การเต้นรำวง โฟล์คซอง รวมถึงการแสดงต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสร้างสีสัน
ด้วยใจหวังเพียงว่า อยากให้ตลาดท่าพระร้อยปีแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งทาง เลือก ที่นักท่องเที่ยวหรือคนที่ผ่านไปผ่านมาแวะเข้ามาเยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้า ซึ่งนั่นหมายถึงการคืนชีวิตให้แก่ชาวชุมชนท่าพระ