ปลุกเยาวชน ใช้หนังสั้นส่องทางด้านดี
สสส. ร่วมกับบริษัท โพลี เทเลมีเดีย จำกัดมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย โดยจัดประกวดหนังสั้น “ชีวิตติดเดิน”
การเดินเป็นการออกกำลังกายอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ผลดีกับร่างกายในด้านสุขภาพต่างๆ มากมาย ขณะที่ในสังคมทั่วไปกลับละเลยเรื่องนี้ และหันไปให้ความสำคัญกับพาหนะที่ช่วยผ่อนแรงของเรา แต่แฝงกับมาด้วยค่าใช้จ่ายมากขึ้นทั้งค่าโดยสาร ค่าน้ำมัน หรือค่าผ่อนรถ รวมทั้งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อชั้นบรรยากาศของโลก ทั้งที่ชีวิตประจำวันเรานั้นสามารถเลือกไปไหนมาไหนด้วยการ “เดิน” ได้
ด้วยเหตุนี้ โครงการปิ๊งส์ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัท โพลี เทเลมีเดีย จำกัด สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเดิน จึงจัดประกวดหนังสั้น “ชีวิตติดเดิน” (เมื่อสองเท้าเริ่มออกเดิน…เราเริ่มเห็นชีวิตด้านดีๆ มาร่วมทำให้ความคิดออกเดินด้วยกัน) ถ่ายทอดเป็นหนังสั้นที่นำเป็นสื่อกลางในการรณรงค์ให้สังคมรักการเดิน ซึ่งมีการจัดประกวดไปก่อนหน้านี้ และก็ถึงเวลาเปิดตัว 11 ทีมเยาวชน เพื่อรับทุนผลิตหนังสั้นในโครงการประกวดต่อไป
ก่อนจะไปรู้จัก 11 ทีมดังกล่าว มารู้เรื่องโครงการประกวดหนังสั้น “ชีวิตติดเดิน” คร่าวๆ กันก่อน โครงการนี้เกิดขึ้นมาเพื่อใช้พลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ชาย หญิง อายุระหว่าง 15-25 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา มาผลิตหนังสั้นตามโจทย์
จากการเปิดรับสมัครไปแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ผลปรากฏว่ามีเยาวชนส่งแนวคิดหรือไอเดียในการนำเสนอและผลิตผลงานเข้ามาถึง 75 ผลงาน แต่มีเพียง 24 ผลงานเท่านั้นที่ได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อไม่นานมานี้
โดยระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการนั้น นอกจากจะมีวิทยากร อาทิ กวิน ชุติมา ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรม โครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย ให้ความรู้เรื่อง “เมื่อชีวิตมาติดเดิน” ชีวิตติดเดินดีอย่างไร, นนทรีย์ นิมิบุตร, พัฒนะ จิรวงศ์ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย ให้ความรู้เรื่อง “การพัฒนาบทที่ดีนำไปสู่หนังที่ดีได้อย่างไร”
อาคม ชีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถานี พีเอสไอ สาระดี และทีมงาน ให้ความรู้เรื่องการใช้โปรแกรม เทคนิค และรูปแบบของภาพยนตร์สั้นเพื่อการเผยแพร่สู่สาธารณะแก่เยาวชน
นอกจากนี้ เยาวชนทั้งหมดยังได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติ สัมผัสการเดินในรูปแบบต่างๆ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินดีต่อสุขภาพ 4 ด้านได้อย่างไร เพื่อนำมาพัฒนาบทของตัวเองก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการในวันสุดท้าย เพื่อคัดเลือก 10 ทีมเข้ารอบผลิตผลงานจริง
ทั้งนี้ จากการตัดสินจากคณะกรรมการ 9 ท่านที่ถือเป็นที่สุด นายพัฒนะ จิรวงศ์ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย หนึ่งในกรรมการตัดสิน บอกว่า จากการนำเสนอของเยาวชนทั้ง 24 ทีมนั้น เป็นเรื่องราวของการเดินในแง่มุมที่น่าสนใจ แต่มีเพียง 11 ทีมเท่านั้น (จากเดิมทีที่จะคัดเพียง 10 ทีม) ที่คณะกรรมการเล็งเห็นว่าน่าสนใจและตรงประเด็นของโจทย์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.ทีม Cestode Studio จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2.ทีม FAT Duck film จากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี 3.ทีม Marathon จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 4.ทีม Palallel จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5.ทีม Spring Up จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
6.ทีม The Anika (ดิ แอนนิกา) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 7.ทีมเฉย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี 8.ทีมเฟี้ยว จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 9.ทีมเย้ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 10.ทีมหน้า “3” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา และ 11.ทีมห่าง ห่าง ฟิล์ม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่
“ทั้ง 11 ทีมนี้จะได้รับทุนในการผลิตหนังสั้นจากโครงการประกวดหนังสั้น “ชีวิตติดเดิน” ไปผลิตผลงานจริงทีมละประมาณ 30,000 บาท จากนั้นจะมีการนัดเพื่อพัฒนาผลงานกับทีมพี่เลี้ยงจากสถานี พีเอสไอ สาระดี พร้อมทีมงาน และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย เป็นระยะก่อนส่งผลงานที่สมบูรณ์โดยเร็วๆ นี้”
จากนั้นหลังจากที่ผลงานทั้งหมดผลิตเสร็จแล้วจะมีการตัดสินหาสุดยอดผลงาน โดยรางวัลหลังเข้าเส้นชัย ชนะเลิศรับทุนการศึกษามูลค่า 50,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับทุนการศึกษามูลค่า 10,000 บาท รางวัลชมเชยรับทุนการศึกษามูลค่า 5,000 บาท (จำนวน 2 รางวัล), รางวัล Popular Vote รับทุนการศึกษามูลค่า 10,000 บาท” นายพัฒนะ จิรวงศ์ กล่าว
ด้านนายอาคม ชีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถานี พีเอสไอ สาระดี กล่าวถึงการต่อยอดผลงานหนังสั้นทั้งหมดว่า หลังจากที่ผลงานทั้ง 11 เรื่อง ผลิตเสร็จแล้ว ผลงานทั้งหมดนี้จะถูกนำไปออกอากาศในช่องของพีเอสไอ และเครือข่ายทั้งหมด เพื่อรณรงค์ให้สังคมหันมาใส่ใจการเดินเพิ่มมากขึ้น
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากการรณรงค์ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ายังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเดินยังมีอยู่น้อยมาก เพราะคนเรามักมองข้ามว่าแท้ที่จริงแล้วการเดินมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากแค่ไหน
สังเกตได้จากตั้งแต่แรกเกิดมา “การเดิน” นับเป็นความสามารถแรกของมนุษย์ที่จะพาตัวเองไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ที่สำคัญการเดินมีประโยชน์ต่อสุขภาพ 4 ด้าน อาทิ สุขภาพทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา โดยสุขภาพทางกายนั้น เมื่อเดินในปริมาณที่พอเหมาะ ร่างกายส่วนต่างๆ ก็จะแข็งแรง อาทิ กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ เป็นการช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้คงที่ได้ ทั้งยังทำให้โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันลดลง
เมื่อพาตัวเองออกเดินจะมีเวลาในการพูดคุยกับเพื่อนร่วมทาง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนในสังคมที่ได้พบเจอระหว่างเดินมากขึ้น ได้มองสังคมรอบข้างชัดเจนขึ้น ได้เปิดโลกทัศน์ ค้นพบมุมมองใหม่ๆ จากคนรอบข้างมากขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นสุขภาพทางสังคมนั่นเอง สุขภาพทางจิตใจนั้น เมื่อได้พูดคุย ได้เห็นสังคม ก็จะสามารถกำจัดความเครียดได้ เพิ่มความสบายใจ ทำให้สุขภาพจิตดี เมื่อมีสติมากขึ้น สุขภาพทางปัญญาก็เกิด และเมื่อยิ่งเดินช้าเท่าไร ก็มองสิ่งรอบๆ ตัวได้มากขึ้น เกิดปัญญาในการคิดไตร่ตรองมากขึ้น ทำให้สติปัญญาเฉียบแหลม เพิ่มความสามารถในการคิด การจำให้ดีขึ้นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมหัศจรรย์แห่งการเดินที่เกิดขึ้นได้ จึงถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องเริ่มก้าวเดิน
เชื่อว่าหลังจากหนังสั้นเหล่านี้ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว จะเป็นการจุดประกายให้สังคมเล็งเห็นประโยชน์ของการเดินเพิ่มมากขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์