ปลุกวิถีปราชญ์ชาวบ้าน
แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสุขภาพชุมชน
วิกฤติน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ทำให้ทุกคนในประเทศมองเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า วันหนึ่งเมื่อภัยพิบัติมาเยือนอย่างกะทันหัน คนทุกผู้ทุกนามไม่ว่าจะร่ำรวย มีหรือจน ต่างก็ไม่พ้นภัยที่มาถึงโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การที่มนุษย์จะได้ใช้วันปกติธรรมดา มองรอบๆตัว แล้วหวนคิดคำนึงถึงสิ่งที่จะเป็นอันตรายกับตัวเองบ้าง ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นความฉลาดของคนที่ไม่ตั้งอยู่บนความประมาท
การรู้จักคิด รู้จักมองหาสิ่งที่ดีๆ เพื่อตัวเอง เพื่อสุขภาพอนามัย เพื่อความสุขของตัวเองและครอบครัว สามารถหาได้ทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทย เพราะเมืองไทยของเรามีผู้รู้ มีนักปราชญ์ อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง
ชมรมหมอยาพื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น, เครือข่ายหมอยาพื้นบ้าน จ.อุดรธานี ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “ปั่นจักรยาน สานพลัง ฟังปราชญ์ชาวบ้าน สื่อสารสุขภาพ” ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของหมอพื้นบ้าน โดยกิจกรรมนี้จะเน้นการเสริมสร้างระบบสุขภาพชุมชนท้องถิ่น ด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้บทเรียน ประสบการณ์ต่างๆ ของปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งความหมายมิใช่เป็นแค่จ่ายยาและหารือเรื่องโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่รวมไปถึงทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งภายในชุมชนต้องมีระบบจัดการที่ดี ช่วยเกื้อหนุนให้ระบบสุขภาพชุมชนดีตามไปด้วย เพราะหมอยาพื้นบ้านเองก็ต้องพึ่งพาอาศัยป่าโดยอาจจะเป็นยาหรือสมุนไพรต่างๆ ที่หาได้จากป่านั่นเอง
วีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย และผู้จัดการแผนงานแผนงานสร้างเสริมระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ สสส. ให้รายละเอียดว่า กิจกรรมนี้จะเน้นการเสริมสร้างระบบสุขภาพชุมชนท้องถิ่น โดยการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ บทเรียน ประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งจะมีการรวมตัวกันของสมาชิกเครือข่ายหมอพื้นบ้านฯ จ.อุดรธานี กว่า 20 คน แล้วใช้วิธีปั่นจักรยาน สร้างกิจกรรมไปตามเส้นทาง จ.อุดรธานี จนไปสิ้นสุดที่ จ.สุรินทร์ โดยระหว่างทางจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับปราชญ์ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่หมอพื้นบ้านได้ ขณะที่ผลทางอ้อมที่จะได้รับอีกทางหนึ่ง คือการสร้างความตระหนักให้ผู้คนในสังคม ชุมชน เห็นว่าในระบบสุขภาพนั้นหมอพื้นบ้านไม่ใช่เรื่องปกปิด ไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย แต่อาจเป็นทางเลือกแรกสำหรับการรักษาด้วยซ้ำไป
โดยกิจกรรมนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมการรักษาโรคแบบดั้งเดิมภายในชุมชน ที่บางครั้งอาจถูกละเลยไปบ้าง ถึงแม้ปัจจุบันสวัสดิการต่างๆ อาทิ บัตรทอง ประกันสังคม ที่ประชาชนได้จากระบบของรัฐจะมีอยู่แล้วก็ตาม แต่ความจริงแล้ววิถีชุมชนมีโรคภัยไข้เจ็บอีกมากมายที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาตัวถึงโรงพยาบาล ซึ่งจะสามารถใช้ศาสตร์ในการรักษาของหมอพื้นบ้านทดแทนได้ และความช่วยเหลือกันของคนในชุมชนนี้เองก็จะนำไปสู่สังคมที่เป็นสุขต่อไปได้เช่นเดียวกัน
เรื่องนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ภก.สมชาย ชินวานิชย์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุข จ.อุดรธานี ที่ยืนยันให้ทราบว่า หมอพื้นบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในระบบสุขภาพชุมชนได้ด้วยความเชี่ยวชาญในบางโรค อาทิ งูสวัด เพราะหากรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเงินไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท แต่หากให้หมอพื้นบ้านรักษา ประกอบกับกินยาแผนปัจจุบันไปด้วย ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับการรักษาอีกทางหนึ่งด้วย ตรงนี้สังคมไทยต้องหันกลับมาใส่ใจ เพราะที่ผ่านมาหมอพื้นบ้านยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ และการที่พ่อหมอได้พบปะพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งในเรื่องการรักษา หรือการจัดการธรรมชาติด้านต่างๆ ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่จะนำไปขยายผลใช้กับชุมชนของตัวเอง เพราะพ่อหมอไม่มีโอกาสไปประชุมวิชาการใดๆให้ได้รับความรู้เพิ่มเติม ในแบบฉบับของเขา
เช่นเดียวกับ นายชัยพฤกษ์ ค้อมคิรินทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.บ้านม่วง อ.บ้านดุง ในฐานะเครือข่ายชุมชนใบชะโนด จ.อุดรธานี ก็บอกเช่นกันว่า กิจกรรมนี้เป็นโอกาสดีที่พ่อหมอจะได้นำความรู้ของตัวเองไปเผยแพร่ยังท้องที่อื่นๆ และก็จะได้นำองค์ความรู้ใหม่ๆ จากปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ กลับมาประยุกต์ใช้กับชุมชนของตัวเอง อย่างเช่น พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านในท้องที่ จ.บุรีรัมย์ ที่ได้สอนให้ทราบถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้เรียนรู้แนวคิดที่ว่า “ไม่รู้ใครมาสอนให้เราอยากรวย เพราะชีวิตเกิดมาไม่มีหนี้ แต่พอใกล้ตายกลับมีหนี้พอกพูน” ตรงนี้ถือเป็นหลักคิดให้พึ่งพาตัวเอง ซึ่งสามารถจะนำไปปรับใช้ได้
นอกจากนี้ยังได้รับความรู้ในเรื่องการจัดพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งต้องยอมรับว่าพ่อหมอบางคนยังไม่เคยทราบมาก่อน ตรงนี้ก็จะได้นำไปใช้กับชุมชนของตัวเอง ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมาก กิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นได้เปิดหูเปิดตากับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่พ่อหมอหลายๆ คนไม่เคยได้รับมาก่อน และเป็นการดีที่จะได้เผยแพร่ความรู้ให้ชาวบ้าน ชาวชุมชนได้รู้ว่าการรักษาด้วยหมอพื้นบ้านเป็นวิถีของชุมชนที่ไม่หวังผลกำไร แต่เพื่อประโยชน์ของชุมชนเพียงอย่างเดียว
งานนี้เห็นทีว่าคงจะไม่จบลงแค่จังหวัดอุดรเท่านั้น แต่น่าจะมีการขยายฐานออกไปให้ทั่วประเทศไทย เพราะ ภูมิปัญญาไทย หรือ ปราชญ์ชาวบ้านมีอยู่ทั่วประเทศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update : 26-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก