ปลุกวาระเด็กไทย บูรณาการข้อมูลไร้รอยต่อยุค 4.0
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การสร้างครอบครัวของคนยุคใหม่ที่ต้องการให้เด็กมีสุขภาวะดี ไม่ได้มีแค่พ่อแม่ลูกเท่านั้น แต่บริบทสังคมและหน่วยงานด้านอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญทั้งสิ้น
อีกทั้งในยุคสมัยนี้ ผู้เยาว์ยังต้องออกไปเผชิญโลกภายนอกและมีโอกาสเข้าถึงสื่อที่หลากหลายมากขึ้น โดยไม่มีใครสามารถกั้นเขตแดนและขอบเขตการเรียนรู้ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบุคคลผู้ที่ทำงานแวดล้อมเกี่ยวกับเด็ก จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ก้าวทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการบูรณาการและเปิดรับการเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมุ่งทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเสวนาเรื่อง "กลไกการบูรณาการแบบไร้รอยต่อระดับจังหวัดเพื่อสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว" ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว "กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน คือผลงานเรา"
รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง ผู้จัดการโครงการบริหารและจัดการหน่วยวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัย โดยการสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2556 ทางโครงการได้เข้าไปขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนมีกระบวนการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยให้มีสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคมที่สมวัย ต้องอาศัยการเชื่อมประสานและทำงานร่วมกันใน 3 ระบบ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในฐานะผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ระบบสุขภาพผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และระบบสนับสนุนด้านการศึกษา นอกนั้นก็มีเอกชนและมีส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เข้ามาดูแลอีกหลายด้าน เพราะช่วยเด็กตั้งแต่แรกเกิด ส่วนการศึกษาในรูปแบบวิชาการก็มีองค์กรจากกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่เข้ามาเสริมด้วย ซึ่งการทำงานดังกล่าวอยู่ภายใต้ชื่อ "โครงการ Coact" หนุนเสริม และมีจังหวัดนำร่องที่เป็นต้นแบบ คือ เชียงใหม่ จันทบุรี และลำพูน
"โดยเราส่งนักวิชาการเข้าไปขับเคลื่อนและมีการประเมินจากการพัฒนาของเด็ก โดยทำงานทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อให้เกิดการทำงานสร้างการศึกษาเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่การลดความเหลื่อมล้ำ คือ เด็กทุกคนเรียนที่ไหนก็ได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน โดยเด็กที่อยู่ในความดูแลจากภาคีของ สสส.จะได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งทั้งหมดนี้บูรณาการร่วมกันจากหน่วยงานท้องถิ่นที่สังกัด 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเราสรุปบทเรียนออกมาว่า หากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ จะช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" รศ.ดร.จุฑามาศกล่าว
สำหรับ 3 จังหวัดที่ สสส.โดยโครงการ Coact เข้าไปขับเคลื่อนนั้น มีเสียงสะท้อนจากพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น นางแจ่มจันทร์ เกียรติกุล เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จังหวัดลำพูน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า จริงๆ แล้วการทำงานเพื่อเด็กปฐมวัยมีมากมายหลายกระทรวง แต่ละหน่วยจะมีบทบาท ภารกิจ และอำนาจหน้าที่แตกต่างกันไป แต่การเชื่อมโยงข้อมูลยังยาก แต่ลำพูนเองก็ขับเคลื่อนได้ เพราะ สสส.เข้ามา สนับสนุนให้ข้อมูลและให้ความรู้เชิงวิชาการ
"งานแรกที่ทำจึงเอากลไกจังหวัดมาปรับปรุง งานต่อมาคือการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยนำข้อมูลมาสังเคราะห์และรวบรวมไว้ ซึ่งทุกแห่งมีการพัฒนาเด็กด้วย ผ่านคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย หรือ Developmental Surveillance and Promo-tion Manual (DSPM) ซึ่งเราพบว่าศูนย์พัฒนาเด็กเอาไปใช้แล้วกว่า 140 แห่ง จึงทำงานง่ายขึ้นและสังเกตเห็นเด็กที่มีปัญหามากขึ้น เช่น การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม การศึกษาบกพร่อง ศึกษาข้อมูลนี้แล้วเห็นวงรอบเด็กทั้งหมด ทำให้เห็นปัญหาง่ายขึ้นแล้วแก้ปัญหาได้ เราก็นำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลผลและเผยแพร่ต่อ หรือจัดอบรมร่วมกับศูนย์บ้าง โดยเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับเด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง" เจ้าหน้าที่ พมจ.จังหวัดลำพูนกล่าว
นายจรัญ ดวงสะเก็ด นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ทางตำบลวังผางเองได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองเด็กในด้านสุขภาพกาย ใจ โดยการคัดกรองโรคภัยทุกภาคการศึกษา ส่งเสริมด้านทักษะชีวิต โดยเชิญคนสูงวัยมาสอนหนังสือ หรือให้เด็กไปเรียนนอกศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเน้นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับคนสูงวัย อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ภายในครอบครัวด้วยการพาผู้ปกครองมาประชุมและรายงานสถานการณ์เด็กให้ทราบเป็นระยะๆ
ด้าน นางเจริญวรรณ มงคลจีระอุทัย หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เสนอความเห็นเกี่ยวกับการบูรณาการแบบไร้รอยต่อว่า การทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะให้เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องออกแบบรอยต่อให้ดี เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีมาตรฐาน เพราะบางครั้งครูต้องติดตามข้อมูลจากผู้ปกครองเพื่อจัดเก็บข้อมูลสำหรับการพัฒนาเด็กเล็กที่นอกเหนือจากวันเกิด ชื่อ ก็ต้องมีข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ด้วย เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพโรคประจำตัว ข้อมูลพัฒนาการ โดยข้อมูลดังกล่าวบางครั้ง ครูไม่อาจรู้ครอบคลุมได้
ครูในศูนย์เด็กเล็กจึงต้องพึ่งพาข้อมูลจากฝ่ายสาธารณสุข ซึ่งหากเด็กพ้นช่วงชั้นของการดูแลของครูแล้ว ครูผู้ดูแลต้องส่งต่อไปยังช่วงชั้นอื่นด้วย และผู้ปกครองควรจะจดจำไว้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ดีในการสร้างฐานข้อมูลเชื่อมกัน และต้องไม่มีการเริ่มทำข้อมูลใหม่ เพราะเสียเวลา เนื่องจากบางครั้งศูนย์ต้องช่วยเหลือเด็กเร่งด่วน แต่หากไม่มีข้อมูลเลยย่อมส่งผลให้การช่วยเหลือเด็กล่าช้า
"ตอนนี้เชียงใหม่ก็มีฐานข้อมูลชัดเจนแล้วของเด็กในการดูแลทั้งหมด แต่ปัญหาคือเวลาส่งเด็กในอีกระดับชั้น เช่น ประถม บางครั้งทางโรงเรียนไม่รับข้อมูลอื่น รับแค่ใบรับรองการจบชั้นเด็กเล็ก ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนการต่อไป แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากส่วนอื่นอีกระยะ" ครูเจริญวรรณกล่าวทิ้งท้าย
การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก หากทุกกระทรวงไม่ประสานความร่วมมือกันอย่างบูรณาการ เด็กในวันนี้ก็จะก้าวไม่พ้นปัญหาเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการล่าช้า ไม่มั่นคงทางสุขภาพ และอาจจะมีปัญหาด้านอารมณ์ ส่งผลเสียในการศึกษาต่อ สุดท้ายพวกเขาก็จะโตเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่ไร้ประสิทธิภาพ