ปลุกพลัง “คำตอบอยู่ที่ชุมชน” ป้องนักสูบหน้าใหม่

ที่มา : สยามรัฐ


ภาพประกอบจาก โครงการควบคุมยาสูบและสุราโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน


ปลุกพลัง


สำนักสร้างสรรค์โอกาสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายจัดเวทีถ่ายทอดและขับเคลื่อนองค์ความรู้ "คำตอบอยู่ที่ชุมชน" ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ดำเนินงานโครงการควบคุมยาสูบและสุราโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน


ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ สสส. คือ "ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ"หมู่บ้าน/ชุมชน จึงนับเป็นหัวใจในการร่วมแก้ไขปัญหาให้แก่ชุมชน เมื่อพื้นที่เข้มแข็งจะสามารถบริหารจัดการได้เองจนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และปัญหาการบริโภคยาสูบถือเป็นภารกิจของ สสส. ที่ต้องให้ความสำคัญ


นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าวว่า โครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สสส. ได้ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดลดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 7 จุดยืนและจุดเด่นของโครงการคือ "คำตอบอยู่ที่ชุมชน" ใช้พลังของชุมชนขับเคลื่อนกิจกรรม เกิดเป็นต้นแบบแก่พื้นที่ต่างๆ โดยพัฒนาศักยภาพและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่จังหวัดในการจัดการตนเอง โดยใช้กลยุทธ์ของกฎบัตรออตตาวาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ ลดอัตราการสูบบุหรี่ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม


โดยมีกลยุทธ์ 5 ประการคือ 1) การขับเคลื่อนให้ชุมชนกำหนดนโยบาย มาตรการและกติกาชุมชน 2) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อสูบบุหรี่ 3) การสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน 4) การเข้าถึงผู้สูบบุหรี่และจัดกิจกรรมช่วยเลิกบุหรี่ และ 5) การปรับเปลี่ยนระบบบริการช่วยลด ละ เลิกบุหรี่ให้มีทั้งบริการเชิงรับเช่น คลินิกโรคเรื้อรัง และเชิงรุกด้วยคลินิกเคลื่อนที่/โมบายคลินิก พร้อมทั้งนำปรัชญาศาสตร์พระราชามาปรับใช้ คือเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา และแนวคิด 5 ร. ได้แก่ รู้ รอบด้านร่วมแรงร่วมใจ ระบบ และรุก


รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้จัดการโครงการควบคุมยาสูบและสุราโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กล่าวว่า โครงการฯ ดำเนินงานผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ระยะรวมกว่า 600 โครงการ ระยะที่ 1 ดำเนินการใน 6 จังหวัด(เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน บุรีรัมย์ และชัยภูมิ)ระยะที่ 2 ดำเนินการใน 7 จังหวัด (แม่ฮ่องสอน เชียงราย นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ปัตตานีและนราธิวาส) ระยะที่ 3 ดำเนินการใน 8 จังหวัด(แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ลพบุรี อยุธยา สมุทรสาครนครศรีธรรมราช ปัตตานีและนราธิวาส) และสร้างจังหวัดจัดการตนเอง 1 จังหวัด (นครราชสีมา) และระยะที่ 4 สร้างจังหวัดจัดการตนเอง 7 จังหวัด (นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ยะลา สตูล สกลนคร และลพบุรี)


"ความสำเร็จของโครงการ คือ มีคนลด ละ เลิกบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่กว่า 10,000 คน มีแกนนำควบคุม ยาสูบกว่า 1,000 คน เกิดการจัดสถานที่ปลอดบุหรี่ บ้านปลอดบุหรี่ ร้านค้าปฏิบัติตามกฎหมายเกิดเป็นกฎกติกาและข้อตกลงร่วมกันในการควบคุมยาสูบ มีบริการช่วยเลิกบุหรี่ทั้งเชิงรับและเชิงรุกในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและชุมชน"  รศ.ดร.มณฑา กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code