ปลุกพลังน้ำนม อุ่นรักจากอกแม่
ที่มา : คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูก แต่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนจากยูนิเซฟ พบว่ามีทารกที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน เพียง 23 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
สาเหตุหลักที่ทำให้คุณแม่ยุคใหม่ให้นมลูกน้อยลงนั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างครัวเรือนที่เปลี่ยนแปลงไป ครอบครัวส่วนใหญ่กลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่ร่วมกันเพียงพ่อแม่ลูก
นอกจากนี้ผลทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัจจัยต่อการเลี้ยงลูก เพราะแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวทำให้ลูกต้องรับอาหารอื่นๆ ทดแทนนมแม่
ถึงแม้คุณแม่ที่เลี้ยงลูกไปด้วยทำงานไปด้วย หรือ "เวิร์กกิ้ง มัม" จะต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่พื้นที่สำหรับคุณแม่ ในออฟฟิศส่วนใหญ่ยังไม่มีนโยบายที่จะจัดมุมนมแม่ให้พนักงาน รวมทั้งการสนับสนุนจากนายจ้างและเพื่อนร่วมงานที่เอื้อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อกันไปได้ ประเด็นเรื่องการให้นมแม่และการเพิ่มพื้นที่สำหรับคุณแม่ จึงเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องอย่างแยกไม่ได้
ล่าสุดมีความพยายามจากหลายหน่วยงานร่วมรณรงค์ส่งเสริมการให้นมลูกจากอกแม่ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 ยูนิเซฟจัดโครงการส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน และภาคเอกชนจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ
ล่าสุดบริษัทมีแม่ 1,120 แม่ลูก เข้าร่วมงาน Thailand Breastfeeding Day By Pigeon อุ่นรักจากอกแม่ งานสร้างสถิติให้นมลูกจากอกแม่พร้อมกันในกรุงเทพฯ, เชียงใหม่ และช่องทางออนไลน์ จากปีแรกมีคู่แม่ลูกจำนวน 410 แม่ลูก, ปีที่สองจำนวน 796 แม่ลูก, ปีที่สามจำนวน 1,018 แม่ลูก ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่จะช่วยส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญ และหันมาใส่ใจกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น
ผศ.วาสนา จิติมา รองหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพของทารก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ลดโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ เช่นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ และคุณค่าจากน้ำนมช่วยเสริมสร้างสมองให้เรียนรู้ได้อย่างว่องไว เพิ่มระดับเชาวน์ปัญญา จึงทำให้ทารกเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ในน้ำนมแม่จะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสายโมเลกุลยาว ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการเจริญของเนื้อเยื่อประสาทและจอประสาทตาเมื่ออายุ 6 เดือนแล้ว
สำหรับคุณแม่นั้น การให้นมลูกยังส่งผลดีต่อสุขภาพคุณแม่ ช่วยป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากทำให้เกิดการกระตุ้นการหลั่ง hormone oxytocin ทำให้มดลูกกลับสู่สุขภาพปกติเร็วขึ้น ช่วยลดน้ำหนักแม่ในระยะหลังคลอด เนื่องจากมีการเผาผลาญไขมันที่เก็บสะสมไว้ในระยะตั้งครรภ์เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนม ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ในสตรีวัยที่มีประจำเดือน ยิ่งให้นมนาน ก็ยิ่งมีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นอกจากนี้ระหว่างการให้นมลูกยังเกิด ฮอร์โมนแห่งรัก หรือ ออกซิโทซิน เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองของคุณแม่ ถูกกระตุ้นให้หลั่งได้ด้วยการดูดนมหรือปั๊มนม ทำหน้าที่ให้แม่เกิดความรู้สึกผูกพันกับลูก ลดปัญหาโรค ซึมเศร้าหลังคลอดในแม่ ซึ่งเวลาที่ลูกได้ดูดนมแม่ พบว่าลูกก็มีหลั่งฮอร์โมนตัวนี้ออกมาเช่นกัน ทำให้ลูกเกิดความผูกพันกับแม่ สงบ ปลอบได้ง่ายขึ้น และงอแงน้อยลง