ปลุกจิตสำนึกใหม่ สร้างวินัยลดขยะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจาก สสส.
ไทยเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณขยะสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดนิทรรศการหมุนเวียน "Go Zero Waste ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ" สร้างความตระหนักแก่สาธารณชนต่อสถานการณ์ขยะ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ กระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการสร้างขยะ ในระดับบุคคล ชุมชน ถึงระดับชาติ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด วิธีการ และปัจจัยความสำเร็จ โดยวิทยากรนักจัดการขยะระดับบุคคล องค์กร และชุมชน นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ม.ค.2562
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเล และขยะมูลฝอย 27.4 ล้านตัน ติดอันดับ 6 ของโลก 1 ใน 5 ของปริมาณขยะทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ใช้สินค้า/ผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาระดับโลก
สสส.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างปัจจัยทางสังคมและ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยหลายวิธี
1.การจัดตั้ง "กองทุนการจัดการขยะเพื่อสวัสดิการชุมชน" ที่บ้านแสงสาคร จ.บึงกาฬ
2.นวัตกรรมการจัดการขยะในชุมชน อาทิ "ไซดักขยะ" จากตาข่ายไนลอน ที่บ้านนาดี จ.ศรีสะเกษ "ถังกรีนโคนกำจัดขยะ" อุปกรณ์ช่วยทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารย่อยสลายขยะอินทรีย์ในครัวเรือน
3.ระดับนโยบายสนับสนุน "แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ" ภายใต้แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ผลักดันข้อเสนอและนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า นิทรรศการหมุนเวียน "Go Zero Waste ชีวิตใหม่ไร้ขยะ"เป็นนิทรรศการที่เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึก ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ รวม 4 โซน ได้แก่
1.โซน Check & Shock สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวันของตัวเองในบ้าน ร้านค้า โรงเรียน และสำนักงาน
2.โซน Waste Land สถานการณ์ปัญหาขยะในปัจจุบันและวิธีการแยกขยะ
3.โซน Waste Wow นวัตกรรมการจัดการขยะใกล้ตัว อาทิ กล่องหมักปุ๋ย Eco brick ถนนเพื่อคนตาบอด
4.โซน Zero Waste World เรียนรู้ต้นแบบวิถีการจัดการขยะจากสถานการณ์ขยะล้นโลกในปัจจุบันที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และประเทศ ผ่านองค์ความรู้ในการลดการสร้างขยะ (Reduce) การนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการนำขยะมาแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
รวมทั้งการคัดแยกขยะ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ผลักดันนโยบายของประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาขยะ
ด้าน ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การจัดการขยะเป็นประเด็นหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเขตเมือง ซึ่งเป็นโครงการที่ สสส. สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ความเป็นเมืองทำให้พื้นที่เอื้อต่อสุขภาวะลดลง จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน จึงต้องเริ่มตั้งแต่ตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม รวมถึงระดับองค์กร เพราะทุกคนเป็นต้นตอการผลิตขยะ