“ปลุกจิตสำนึกผู้บริโภค” ปฏิรูปสังคม
นายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบายทีวีไทย (TPBS) เกริ่นนำ ปูพื้นให้เห็นภาพว่า สิทธิผู้บริโภคกับสิทธิพลเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะรัฐมีหน้าที่ในการดูแลให้ประชาชนได้รับบริการในการดูแลคุณภาพชีวิตอย่างรอบด้านตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ ขณะที่ประชาชนมีสถานะเป็นผู้ซื้อบริการ ผ่านการเสียภาษีและการเลือกตั้ง ทั้งนี้ หากพิจารณาองค์ประกอบด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะพบว่าเป็นชุดเดียวกันกับการมีระบบการเมืองที่ดี จากความตระหนักว่าการคุ้มครองผู้บริโภคคือการปกป้องประชาชนจากอันตราย และการละเมิดสิทธิที่จะได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งในสหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) จึงให้ความสำคัญต่อการออกกฎหมายที่ให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง เช่น สหรัฐอเมริกา มีกฎหมาย Consumer Protection Act 1986 ซึ่งมีกฎหมายลูกออกตามมามากกว่า 10 ฉบับ
ต่อด้วย ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิพลเมืองของประเทศไทยในยุคปัจจุบันอยู่ในช่วง ยุคที่ 3 สิทธิผู้บริโภคถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิพลเมือง อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับ และสังคมได้สร้างกลไกต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ เห็นได้ชัดหลังวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในปี 2540 ประชาชนได้แสดงออกถึงการเรียกร้องให้รัฐดูแลสิทธิพื้นฐานในฐานะพลเมือง และสะท้อนผ่านเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และ 2550 ที่ได้สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดการรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านต่างๆ ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ในแง่การรับรู้ของประชาชนต่อสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควร
ท้ายสุด นายปรีดา เตียสุวรรณ์ จากเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม ไล่เรียงให้เห็นว่า สังคมไทยในช่วงประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา มีโครงสร้างต่างไปจากเดิมมาก คนยากจนลดสัดส่วนลง และมีชนชั้นกลางเกิดขึ้น และเข้ามาร่วมกำหนดความเป็นไปทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมากขึ้นกว่ายุคที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนขึ้นหลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535 ที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ให้ความสำคัญต่อการยกระดับสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ในฐานะ “พลเมือง” ในการกำหนดความเป็นไปทางสังคมด้านต่างๆ
ในทางเดียวผู้อภิปรายทั้งสามท่านมีความเห็นตรงกันว่า ประชาชนก็คือ “ผู้บริโภค” ที่ “จ่าย” หรือซื้อบริการจากรัฐผ่านการเสียภาษีในรูปแบบต่างๆ ในสถานะเช่นนี้ ผู้บริโภค หรือประชาชน จึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปสังคม เพราะคงไม่มีใครอีกแล้วที่จะหวังให้มาปกป้องสิทธิของเราได้ดีเท่ากับ “ตัวเราเอง”
ที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
Update : 29-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่