ปลุกคนไทยคิดก่อนซื้อ-แยกก่อนทิ้ง

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้ประชาชน คิดก่อนซื้อ แยกก่อนทิ้ง รักษาสิ่งแวดล้อม


ปลุกคนไทยคิดก่อนซื้อ-แยกก่อนทิ้ง  thaihealth


น.ส.ภาวิณี ปุณณกันต์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผย ว่าปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาใหญ่และสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง แต่สำหรับการแก้ไขปัญหานั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางภายในครัวเรือนหรือสำนักงาน โดยอาศัยหลักการ "คิดก่อนซื้อ แยกก่อนทิ้ง รักษาสิ่งแวดล้อม" คือ โดยทุกครั้งก่อนที่จะซื้อของควรพิจารณาก่อนว่า จะช่วยลดขยะได้อย่างไร ไม่ซื้อตามกระแสหรือแฟชั่น "แยกก่อนทิ้ง รักษาสิ่งแวดล้อม"


โดยทำการคัดแยกขยะ 4 ประเภท ตั้งแต่ในครัวเรือนก่อนนำไปทิ้ง ก็จะช่วยให้การจัดการขยะเกิดประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1.ขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นขยะย่อยสลายง่าย เช่น เศษอาหาร ผลไม้ หญ้า ใบไม้ ซากพืช ซากสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ซึ่งเป็นขยะที่ยังมีประโยชน์ สามารถนำไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น กระดาษ พลาสติก โลหะ กล่องเครื่องดื่ม UHT และแผ่นซีดี 3. ขยะอันตราย ที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย วัตถุมีพิษ เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ และกระป๋องสเปรย์ 4.ขยะทั่วไป ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก 3 ข้อแรก อาจนำมาใช้ใหม่ได้แต่ไม่คุ้มค่าต่อการแปรรูปเช่น เศษผ้า เศษหนัง ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พลาสติกห่อขนม เป็นต้น


อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นอกจากความร่วมมือของประชาชนในการจัดการขยะโดยอาศัยหลักการ "คิดก่อนซื้อ แยกก่อนทิ้ง รักษาสิ่งแวดล้อม" แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมด้านการจัดการขยะ เป็นเพียงการเก็บค่าธรรมเนียมการขนส่งเท่านั้น ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดขยะ ทำให้ไม่มีงบประมาณในการกำจัดขยะอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล จนเกิดปัญหาขยะตกค้างสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. … และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการแจ้ง พ.ศ. … ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการขยะได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถออกเทศบัญญัติในการจัดเก็บค่าบำบัดขยะได้ซึ่งเกณฑ์กลางอ้างอิงที่มีการเสนอให้จัดเก็บ คือ ครัวเรือนละ 150 บาท


โดยคำนวณจากการประมาณการว่า แต่ละครัวเรือนมีสมาชิกเฉลี่ย 5 คน แต่ละคนสร้างขยะคนละ 1 กก./วัน หรือครัวเรือนละ 150 กก./เดือน ขณะที่อัตราค่ากำจัดขยะจะเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 1 บาท หรือเท่ากับ 150 บาท/ครัวเรือน/เดือน แต่หากครัวเรือนใดสามารถลดปริมาณขยะได้น้อยกว่าเกณฑ์ ก็อาจเสียน้อยกว่าหรือไม่เสียก็ได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ ถือเป็นการกระตุ้นให้ครัวเรือนตระหนักในการคัดแยกหรือนำขยะกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

Shares:
QR Code :
QR Code